รู้ไว้ใช่ว่า! ประโยชน์จากการจดและนับ "ประจำเดือน"

รู้ไว้ใช่ว่า! ประโยชน์จากการจดและนับ "ประจำเดือน"

รู้ไว้ใช่ว่า! ประโยชน์จากการจดและนับ "ประจำเดือน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ โดย พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล
รู้ไว้ใช่ว่า! ประโยชน์จากการจดและนับ "ประจำเดือน"
คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ
พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล
email:doctorpin111@gmail.com

 

สวัสดีค่ะ ผ่านพ้นวันหยุดยาว (เฟื้อย) กันไปแล้วนะคะ

ได้เวลากลับสู่ชีวิตจริง งานประจำ แล้วก็ได้แต่เฝ้ามองปฏิทินให้ถึงวันหยุดยาว (ไม่เฟื้อย) ในเดือนถัดไป

พูดถึงเรื่องปฏิทิน หลาย ๆ ท่านมักจะจดตารางนัด หรือสิ่งที่ต้องทำ เช่น จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ บัตรเครดิต ลงในปฏิทิน สมุดเล่มเล็ก ๆ หรือมือถือกันใช่ไหมคะ

วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่อง การ "จดประจำเดือน" กันค่ะ ว่าจะจดอย่างไร นับอย่างไร และจะจดไปทำไม จดแล้วมันดียังไงนะคะ

ก่อนอื่น

จะจดยังไงดี : ให้จดว่าเริ่มมาวันไหน ถึงวันไหนค่ะ

โดยปกติแล้ว คุณผู้หญิง จะมีประจำเดือนมา เป็นระยะเวลา 1-8 วัน ถ้ามากกว่า 8 วันถือว่าผิดปกติค่ะ ควรพบแพทย์

นับยังไงดี : การนับรอบเดือน คือนับวันที่ประจำเดือนมาวันแรก เป็นวันที่ 1 ค่ะ นับไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งประจำเดือนรอบถัดไปมา ก็เริ่มนับ 1 ใหม่ โดยรอบเดือนปกติ จะมีระยะเวลา อยู่ที่ 21-35 วันค่ะ

ดังนั้น น้อยกว่า 21 วัน หรือยาวนานกว่า 35 วัน ก็นับว่าผิดปกติเช่นกันนะคะ

จดไปทำไม จดแล้วมันดียังไง

1.รู้ทันรอบเดือน รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ และรอบเดือนสั้นยาวปกติหรือไม่ : ในคุณผู้หญิงที่รอบเดือนมาสม่ำเสมอ การจด ก็จะสามารถทำให้คาดการณ์ได้ว่า เดือนหน้ารอบหน้า ประจำเดือนจะมาประมาณวันไหนค่ะ เวลาจะออกไปเที่ยวไหน หรือจะออกไปทำงาน จะได้เตรียมผ้าอนามัยใส่กระเป๋าไปด้วย จะได้ไม่เกิดอาการประจำเดือนเล็ดราด วิ่งหาผ้าอนามัยให้วุ่นวายค่ะ

และอย่างที่กล่าวไปข้างต้น การจดก็จะทำให้เรารู้อีกด้วยว่า รอบเดือนเรา เป็นรอบเดือนที่ปกติหรือเปล่า ยาวไปหรือสั้นไปรึเปล่าค่ะ

2.รู้วันปลอดภัย : ในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์ และชอบนับระยะปลอดภัยทั้งหลาย การนับระยะปลอดภัย ตามหลักการ คือควรจะ "จด" ประจำเดือน มาอย่างน้อย 6 เดือน และเลือกเอารอบเดือนที่สั้นที่สุด และยาวที่สุด มาคำนวณค่ะ

โดยเอารอบที่สั้นที่สุดมาลบ 18 รอบที่ยาวที่สุดมาลบ 11 เช่น ถ้ารอบเดือนยาว 28-31 วัน ก็จะลบได้ 10, 20 จะได้ระยะอันตราย นั้นคือวันที่ 10-20 (นับจากประจำเดือนที่มาวันแรกเป็นวันที่ 1) ซึ่งนอกเหนือจากระยะนี้ก็จะนับว่าปลอดภัยค่ะ ใครสับสน งงงวย จะหันกลับมาสูตรที่คุ้นเคย

"หน้าเจ็ด หลังเจ็ด" ก็ได้ค่ะ ก่อนอื่นต้องขอเตือนก่อนนะคะ ว่าวิธีนี้ไม่ใช่วิธีคุมกำเนิดที่ดีและชัวร์นัก จะค่อนข้างดีในคนที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ (ดังนั้นจะรู้ว่าสม่ำเสมอหรือไม่ ก็ต้องจดใช่ไหมคะ)

ดังนั้น ถ้ายัง "ไม่พร้อม" จะเป็นแม่คน ไม่แนะนำวิธีนี้ค่ะ และหน้าเจ็ดหลังเจ็ด ที่สาว ๆ นิยมจะนับกัน ส่วนใหญ่จะนับ "ผิด" นะคะ เพราะชอบไปนับวันหมดประจำเดือนเป็นวันที่ 1 ดังนั้น เราก็จะได้ คุณแม่วัยรุ่น (ผู้นับวันพลาด) มาที่หน่วยฝากครรภ์กันมากมาย

ดังนั้นถ้าจะให้ถูก "หน้าเจ็ด" คือ ก่อนมีประจำเดือน 7 วัน ส่วน "หลังเจ็ด" คือ 7 วัน โดยนับวันที่ประจำเดือนมาวันแรก เป็นวันที่ 1

3.คาดเดาวันไข่ตกได้ : สำหรับคนที่พร้อมอยากจะเป็นแม่คนเราสามารถคาดเดาวันไข่ตกได้ค่ะ โดยไข่จะตก 14 วันก่อนที่รอบเดือนครั้งถัดไปจะมาค่ะ ดังนั้น คนที่จดอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งเดาวันประจำเดือนครั้งถัดไปแม่นเท่าไหร่ โอกาสจะคาดคะเนวันไข่ตกก็จะแม่นยำตามไปด้วย เช่น ถ้ารอบสม่ำเสมอที่ 28 วัน ไข่ก็จะตกวันที่ 14 ถ้ารอบเดือนสม่ำเสมอที่ 30 วัน ไข่จะตกวันที่ 16 ค่ะ

เห็นไหมคะ แค่จดประจำเดือน ก็บอกอะไรเราได้มากมายแล้ว มาจดกันเถอะค่ะ สวัสดีค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook