ดร.ตุ๊ก วิมลเรขา เส้นทางชีวิตนางเอก ทนาย และครูในหุบเขา

ดร.ตุ๊ก วิมลเรขา เส้นทางชีวิตนางเอก ทนาย และครูในหุบเขา

ดร.ตุ๊ก วิมลเรขา เส้นทางชีวิตนางเอก ทนาย และครูในหุบเขา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายๆ คนอาจคุ้นกับชื่อนี้ แต่หลายคนอาจจำไม่ได้แล้วว่าเธอคืออดีตนางเอกละครคนหนึ่งของวงการบันเทิงบ้านเรา

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ "ตุ๊ก วิมลเรขา ศิริชัยราวรรณ" เลือกที่จะทิ้งวงการบันเทิงที่ใครต่อใครใฝ่ฝัน และอยากเข้ามาเป็นสมาชิก และเลือกที่จะใช้ชีวิตบนเส้นทางของการเป็นผู้ให้ โดยไม่แยแสสิ่งล่อใจในรูปชื่อเสียงเงินทอง  

เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิง
ตุ๊ก วิมลเรขา เข้าสู่วงการเมื่อปี 2538 โดยในช่วงนั้นอดีตนางเอกเพิ่งจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสอบตั๋วทนายผ่าน สามารถเป็นทนายเต็มตัวได้แล้ว แต่ยังไม่มีใครทราบ ในช่วงเดียวกันก็มีโอกาสได้พาเพื่อนไป Casting คัดนักแสดง แต่จับพลัดจับผลู กลายเป็นตัวเองที่ได้งาน โดยประเดิมละครเรื่องแรกคือ "ขุนศึก" ละครฟอร์มยักษ์ในยุคนั้น

เส้นทางในวงการบันเทิงของเธอต่อจากนั้น ตุ๊ก วิมลเรขา มีโอกาสสัมผัสกับ งานพิธีกร อาทิ รายการบ้านเลขที่ 5, พากินพาเที่ยว, ท้าเที่ยวไทย, ลุ้นข้ามโลก ฯลฯ ได้มีโอกาสเห็นและสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ได้ไปดูสถานที่ Unseen Thailand ทั่วประเทศไทย หลังจากนั้นได้กลับมาเรียนต่อเนติบัณฑิต ต่อด้วยปริญญาโทและปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยเดิม จนจบเป็นด็อกเตอร์ ในปัจจุบัน 

ความเป็นมาของฉายา “ทนายดารา”
“ผู้ใหญ่ในวงการสื่อ พี่ต้อย-แอคเน่อร์ เป็นคนตั้งฉายาสะกิดหูนี้ให้ค่ะ คงเพราะเราเป็นดาราด้วย เป็นทนายด้วย แล้วแปลกกว่าดาราท่านอื่นในรุ่นนั้น ตรงที่ได้มีโอกาสผสมผสานงานกฎหมายและงานบันเทิงเข้าด้วยกัน ในช่วงที่กลับมาเรียนปริญญาโท และ ปริญญาเอก ก็ทำงานสื่อไปด้วย ทำรายการเป็นพิธีกรเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นรายการ ผู้หญิงถึงผู้หญิง, เช้านี้ที่เมืองไทย, ช่วยคิดช่วยทำ, ศิราณี ฯลฯ ล้วนเป็นรายการที่มีเนื้อหาอิงกฎหมายทั้งสิ้น การที่เราใช้ศิลปะในการแสดงทำให้ถ่ายทอดกฎหมายได้ง่ายขึ้น คนเข้าใจมากขึ้น เราจะพูดกฎหมายด้วยภาษาบ้านๆ ไม่ใช้ศัพท์วิชาการสูง ไม่ต้องปีนบันไดขึ้นไปฟัง

ตรงนี้คือจุดที่เอามารวมกันระหว่าง 2 ศาสตร์ เป็นข้อดี ทำให้เราได้ทำรายการเกี่ยวกับกฎหมาย แล้วได้ประโยชน์กับชาวบ้าน รวมทั้งได้จัดรายการวิทยุ ยามบ่ายกับทนายดาราด้วย เป็นรายการวิทยุของไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งตอนท เรทติ้งถล่มทลาย เป็นรายการเดียวที่ไม่ต้องมีหน้าม้า และทุกครั้งที่จัดแม้ว่าจบเวลาออกอากาศแล้ว ก็ยังมีสายเข้ามาขอปรึกษา ยาวออกไปอีกเป็นชั่วโมงๆ แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำแล้ว ให้ทีมทนายที่เราสร้างมารับช่วงต่อ เพราะตัวตุ๊กเองมาอยู่ที่จังหวัดพะเยา”

เคยว่าความคดีดาราอะไรบ้าง
“ส่วนใหญ่เป็นที่ปรึกษากฎหมาย แต่จะมีทีมทนายรุ่นพี่รุ่นน้องช่วยดำเนินการ เราเหมือนเป็น Head Office คดีส่วนใหญ่ ก็เป็นคดีที่ดารามีปัญหา ตั้งแต่คดีศิลปินทำให้ผู้หญิงท้อง มีการปฏิเสธความเป็นพ่อลูกกัน และมีการพิสูจน์ DNA , คดีบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โดนเรื่องของการหมิ่นประมาทดารา ก็ไปช่วยไกล่เกลี่ยให้ คดีดาราล้มละลาย, คดีบรรณาธิการคนดังถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ น.ศ.ฝึกงาน , คดีดาราหย่ากันมีปัญหาในเรื่องการเป็นผู้ปกครองลูก ต้องช่วยเคลียร์ให้เข้าใจ”

“ ทุกๆ เรื่องมี Behind the scene ทั้งนั้น ต้องบอกว่า...โดยปกติแล้ว ตุ๊กไม่เป็นคนที่ไม่ค่อยได้ดูข่าวกอสซิปดารามากนัก เพราะว่าเดี๋ยวสักพักนึงก็จะมีเรื่องจริงมาเล่าให้ฟัง เลยไม่ต้องตามข่าว คนบันเทิงบางคนเขาเจอมรสุมชีวิต โดนกลั่นแกล้ง จะขึ้นตำแหน่งหน้าที่การงานดีๆ โดนวางกับดักจากคู่แข่ง ทำให้พลาดจากตำแหน่งสูงๆ ที่วาดหวังไว้ง่ายๆ เลย ล่าสุดคดีศิลปินนักร้องชื่อดังจากต่างประเทศ มีปัญหาว่าโดนเบี้ยวค่าตัวจากบริษัทผู้จ้างไทย เราได้ส่งทีมทนายไปช่วยแนะนำการไกล่เกลี่ยให้บริษัทที่มีปัญหากับศิลปินนักร้อง ทุกเรื่องเราจะฟังความข้างเดียวไม่ได้ แต่วิธีบริหารจัดการของเราก็ต้องรักษาชื่อเสียงของส่วนรวมก็คือประเทศไทยด้วย

เราไม่ปล่อยให้มีการเคลียร์กันแล้วกล่าวหากันไปมา โดยที่ไม่ได้ช่วยแนะนำ สิ่งที่เป็นหลักซึ่งตุ๊กบอกทีมเสมอในการทำหน้าที่ของเรา คือ การสร้างความเข้าใจมากกว่า จะช่วยหาทางออกโดยไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมให้จบกันด้วยดี และสามารถเดินไปต่อในอนาคตข้างหน้าได้ ทนายในแนวทางของตุ๊ก จะเป็นทนายที่สร้างความสันติสุขมากกว่าความร้าวฉาน ”

เครียดไหมกับบทบาททนาย
“ช่วงแรกๆ จะเครียดมากเพราะต้องมาแบกรับปัญหาที่เราไม่ได้ก่อ แต่ต้องหาทางออกที่ดีให้กับคนอื่น พอทำไปสักพักเริ่มรู้จักวิธีการบริหารจัดการ เราอย่าทำตัวเป็นตัวละครเอง เราเป็นคนกลาง ช่วยหาทางออกให้ เราเป็นคนนอก ถ้าเมื่อไหร่ที่เราทำตัวเป็นตัวละครเอง เราจะกินไม่ได้นอนไม่หลับ จะเป็นทุกข์ เป็นการทำงานที่ไม่ถูกทาง ซึ่งช่วงแรกๆ ตุ๊กเป็นแบบนั้น (หัวเราะ) ”

“แต่การเรียนนิติศาสตร์ เราถูกฝึกให้รับมือกับปัญหาหนักๆ เพราะเรียนจบออกไปต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน ยิ่งการอยู่สองวงการ ทำให้มีข้อดี โดยเฉพาะเมื่อเราเริ่มนำมาหาจุดเชื่อม ใช้การเข้าถึงประชาชนด้วยการเป็นดารา ไปไหนคนก็จะยินดีต้อนรับ ทำให้วันนึงที่เราทำหน้าที่ทนายเต็มตัว ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก คนที่เป็นลูกความไว้ใจ เพราะว่าเคยเห็นหน้าเราในทีวีและคุ้นเคย รู้สึกเชื่อใจเรา โดยที่เราไม่ต้องใช้ความพยายามมากในการปรับตัวเข้าหากัน ระหว่างทนายกับลูกความด้วยความที่เป็นคนของสาธารณะ ”

ทำไมถึงผันตัวเองมาเป็น อาจารย์
“หลังเรียนจบด็อกเตอร์ก็ได้รับการชักชวนจากท่านคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ท่านเป็นนักเรียนปริญญาเอกรุ่นเดียวกัน จบมาพร้อมกัน ท่านชวนให้มาเป็นคุณครูที่หุบเขาในจังหวัดพะเยา มาเป็นแม่พิมพ์สอนกฎหมาย สร้างเด็กกฎหมายรุ่นใหม่ๆ เพราะด็อกเตอร์ในเมืองไทยทางด้านกฎหมายหายากมาก เป็นช่วงของการขาดแคลน ที่มีอยู่ก็มักอยู่ในสายการเมือง อยู่ในองค์กรต่างๆ เช่นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรืออัยการ ซึ่งท่านเหล่านี้ ไม่ได้มาเป็นครูที่อยู่ประจำ ดูการพัฒนาการของเด็ก ส่วนใหญ่ท่านผู้ใหญ่จะเป็นครูพิเศษบินมาสอนในบางช่วงเวลาเท่านั้น ไม่ได้มาคลุกคลีแบบนี้ สิ่งที่มหาวิทยาลัยขาดคือต้องการมีครูที่อยู่กับเด็กมาสร้างนักกฎหมายรุ่นใหม่ ที่จะออกไปทำให้บ้านเมืองนี้เดินต่อไปอย่างสงบสุข

"ตอนแรกตุ๊กไม่เคยคิดว่าจะมาได้ เพราะยังติดงานวงการบันเทิงอยู่ แต่คงเป็นเพราะชะตาฟ้าลิขิต ไหนๆ เรียนมาทางด้านนี้แล้วก็ต่อไปให้ถึงปลายสุดเลย เพราะยังไม่มีดาราที่จบปริญญาเอกทางด้านกฎหมายในตอนนั้น เปลี่ยนหน้าที่ในการรับผิดชอบพยายามทำให้ดีที่สุดแบบที่จะเป็นได้ในวิชาชีพนั้น ไม่ว่าจะเป็นดาราก็ตั้งใจ เป็นทนายก็ตั้งใจ มาเป็นครูก็ตั้งใจ พยายามหาจุดที่มันเป็นความสุขให้ได้

"อีกจุดที่ทำให้เปลี่ยนมาอยู่ต่างจังหวัดในหุบเขา คือเริ่มเบื่อเมืองหลวง เป็นยุคที่มีคนรู้เยอะมาก แต่ว่าเรากำลังใช้กฎหมายที่เข้าข้างตนเอง เข้าข้างพรรคพวกของเราในการตีความในเชิงที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่น เป็นยุคของโซเชียลมีเดียที่ทำให้ มีความไม่เชื่ออย่างรุนแรง เลยคิดว่าในรอบนอกที่เค้าจะต้องพัฒนาตนเอง ควรที่จะต้องมีต้นแบบในวงการนี้ที่จะเติบโตขึ้นมา เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรา ควรต้องเซทอัพตั้งแต่แรก จึงคิดว่าเป็นจุดนึงของชีวิตที่จะได้ทำและท้าทาย

"ขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ มา 8 เดือนแล้ว ที่มหาวิทยาลัยพะเยา อยู่ในหุบเขา ซึ่งมีธรรมชาติที่สวยงามมาก ถือว่าเป็นช่วงที่พักผ่อนและสร้างคนให้กับสังคม บางทีก็มีลูกศิษย์แซว เงินเดือนอาจารย์ ดูท่าจะไม่พอค่าเครื่องสำอาง (หัวเราะ) เค้าก็สงสัยกันว่าทำไมไม่ไปเลือกอยู่เมืองหลวง เพราะค่าตอบแทนคุณครูในหุบเขาก็ไม่ได้มีค่าตอบแทนอะไรมากมาย เพื่อนวงการบันเทิงถามว่าเป็นครูบ้านนอกแล้วจะพอกินหรอ เค้าสงสัยว่าติดลบทุกเดือนแต่ทำไมถึงอยู่ได้ เราก็บอกว่าก็ไม่ต้องดูบัญชีทำลืมๆไป (หัวเราะ) อาศัยที่เรามีความตั้งใจที่เข้มแข็ง ”

สิ่งที่ทำให้ภาคภูมิใจในบทบาทของครู
“ ได้เห็นผลงานของนักศึกษาทำให้มีกำลังใจที่เดินสายนี้ต่อ เมื่อปลายปีที่แล้วส่งนักศึกษาไปแข่งขันตอบปัญหากฎหมายระดับประเทศที่ธรรมศาสตร์ ปรากฏว่าเด็กพะเยาได้ที่ 1 ระดับประเทศ ชนะมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ แสดงว่าศักยภาพความเชี่ยวชาญของคนไม่ได้อยู่ที่พื้นที่มากนัก เป็นข้อพิสูจน์และเป็นแรงที่ทำให้เดินต่อไปได้ ช่วยให้นักศึกษาเกิดความรักในวิชากฎหมาย ตอนนี้ทิ้งงานทุกอย่างในกรุงเทพฯ ทั้งหมด ในวันข้างหน้าอาจจะต้องบริหารจัดการให้ดีขึ้น และต้องทำในสิ่งที่เราควรที่จะต้องทำต่อไปได้ทั้ง 2 ทาง อาจจะเป็นความท้าทายในโหมดต่อไป ”

จุดมุ่งหมายในชีวิต และแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต
“จุดมุ่งหมายในแต่ละขั้นของชีวิต อาจจะมีเปลี่ยนไปบ้าง บางครั้งก็ไม่ได้ตั้งใจว่าเราจะทำได้ให้ถึงในจุดๆ นั้น เหมือนกับเราไม่ยอมแพ้ในอุปสรรคต่างๆ อาจจะช้ากว่าคนอื่น จึงทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจ ไม่ได้มีเป้าหมายที่สูงสุดในชีวิตอะไรมาก คือเป็นอะไรก็ได้แล้วมีความสุขกับมัน และทำให้ดีที่สุดค่ะ

"สมัยก่อนเคยคิดว่าอยากเป็นผู้พิพากษา อยากเป็นตัวกลางที่จะทำให้เกิดความยุติธรรม แต่พอโตมาก็ทราบว่า เป็นอย่างอื่นก็สามารถผดุงความยุติธรรมได้ และดูแลตัวเองได้เป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้างพ่อแม่พี่น้อง และกลับคืนสู่สังคมได้ มีต้นแบบความอดทนจากคุณพ่อ เพราะท่านเป็นนักสู้และเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก เป็นผู้นำ คุณแม่ก็เป็นคนที่อดทนมาก จึงไม่มีคำว่าสายไปสำหรับเรา และวันนี้เข้าใจถึงคำว่าแม่พิมพ์ได้อย่างชัดเจน ”

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ ของ ดร.ตุ๊ก วิมลเรขา เส้นทางชีวิตนางเอก ทนาย และครูในหุบเขา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook