เมื่อสตรีมีอารมณ์...แต่เกิดปัญหาภัย(ช่องคลอด)แล้ง

เมื่อสตรีมีอารมณ์...แต่เกิดปัญหาภัย(ช่องคลอด)แล้ง

เมื่อสตรีมีอารมณ์...แต่เกิดปัญหาภัย(ช่องคลอด)แล้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ
โดย พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล


สวัสดีค่ะ ช่วงนี้บ้านเรากำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนไม่ตก พื้นดินขาดน้ำ แห้งแตก ถนนทรุด

หัวข้อที่จะคุยกันวันนี้ เราจะมาคุยเกี่ยวกับอะไรที่แห้ง ๆ แล้ง ๆ กันนะคะ

รู้หรือไม่คะว่า คุณผู้หญิงก็สามารถประสบปัญหา ความแล้ง ความแห้งได้เช่นกัน

นั่นคือภาวะช่องคลอดแห้งค่ะ แม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศก็ตาม

ภาวะช่องคลอดแห้ง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคุณผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนค่ะ

นั่นก็เพราะ พอคุณผู้หญิงเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือน รังไข่ หรือโรงงานผลิตไข่ได้ปิดตัวลง ผลิตภัณฑ์ที่โรงงานนี้เคยสร้างได้ อย่างฮอร์โมนเพศหญิง หรือฮอร์โมนเอสโตรเจน ก็จะขาดตลาดด้วยเช่นกัน

การที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ก็จะส่งผลทำให้ช่องคลอดแห้ง ผนังช่องคลอดบางลง และยืดหยุ่นน้อยลง

นอกจากภาวะช่วงหมดประจำเดือนแล้ว สาเหตุที่ทำให้ช่องคลอดแห้ง ยังเกิดจากการเล้าโลมที่ไม่เพียงพอ

การสวนล้างช่องคลอด ช่วงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร การแพ้ยาหรือการใช้ยาบางชนิดค่ะ

ช่องคลอดแห้งอาจไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตนอกเตียงของคุณผู้หญิงมากนักค่ะ

แต่มักเป็นปัญหาเวลามีเพศสัมพันธ์กันค่ะ เพราะสามารถมีอาการเจ็บหรือแสบ ขณะมีเพศสัมพันธ์ได้

นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดอาการ ตกขาว คันได้อีกด้วยค่ะ

การรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง สามารถรักษาได้ด้วยยาฮอร์โมนชนิดที่ทาเฉพาะที่ค่ะ หรือยาทานค่ะ

แต่ ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ย้ำ 38 ครั้งตรงนี้ว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นควรขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาค่ะ เพราะยาพวกนี้มันไม่ควรจะใช้ในระยะยาว

และการซื้อหายามาทานเองและทาเอง หรือใช้แบบผิด ๆ (เพื่อเพิ่มภาวะอกฟู รูฟิตเปรี๊ยะ)

อาจทำให้ได้รับฮอร์โมนให้ปริมาณที่สูงเกินไป อาจทำให้เกิดมะเร็งมดลูก และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ค่ะ

นอกจากนี้การใช้สารหล่อลื่น KY Gel และการเล้าโลม โหมโรง กล่าวบทนำกันให้เพียงพอค่อยเริ่มปฏิบัติการ ก็สามารถช่วยแก้ปัญหานะคะ

และหลีกเลี่ยงการใช้สบู่น้ำหอม การสวนล้างช่องคลอด หรือทาโลชั่นบริเวณดังกล่าวด้วยค่ะ

อาการช่องคลอดแห้ง อาจไม่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของคุณ แต่ถ้ามันส่งผลกระทบ เช่น มีอาการคันแสบ หรือเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ อย่าอายหมอนะคะ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ "ถูกต้อง" ค่ะ

เพื่อความชุ่มชื้นจะได้กลับคืนมา ไม่ต้องทนกับสภาวะภัยแล้งอีกต่อไป สวัสดีค่ะ

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.istockphoto.com/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook