เตือนเด็ก"เลือกกิน" โตขึ้นมีปัญหา!

เตือนเด็ก"เลือกกิน" โตขึ้นมีปัญหา!

เตือนเด็ก"เลือกกิน" โตขึ้นมีปัญหา!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลการศึกษาของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุค ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า เด็กๆ ที่เลือกกินอาหาร หรือกินอาหารยาก จะส่งผลต่อการเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตเมื่อโตขึ้น แม้แต่เด็กที่เลือกกินในระดับปานกลาง ก็อาจกลายเป็นคนมีอาการซึมเศร้า กระวนกระวาย มีปัญหาเรื่องสมาธิ เรื่อยไปจนถึงอาการกระตือรือร้นผิดปกติ หรือไฮเปอร์แอ๊กทีฟ

ทีมวิจัยยังพบด้วยว่า ยิ่งอาการเลือกกินมีมากเท่าใด ปัญหาสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นตามมายิ่งมีสูงขึ้นมากเท่านั้น

นายวิลเลียม โคปแลนด์ นักจิตวิทยาคลินิก จากมหาวิทยาลัยดุค ระบุว่า อาการเลือกกินอาหารที่พูดถึงในการศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการปฏิเสธกินผักหรืออาหารบางอย่างซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทั่วไปของเด็กส่วนหนึ่ง แต่เป็นกลุ่มเด็กที่เลือกกินอาหารจนเหลืออาหารแบบที่กินได้จำกัดอย่างมาก ชนิดที่ทำให้พ่อแม่ต้องเตรียมอาหารให้แยกต่างหากจากคนอื่นๆ ในครอบครัว

ปัญหาดังกล่าวนี้จำเป็นต้องได้รับการใส่ใจดูแลจากผู้เป็นพ่อแม่ หรือผู้ที่เลี้ยงดูเด็ก มากกว่าปัญหาเรื่องการกินอาหารให้ครบหมู่ หรือการให้เด็กกินผักต่างๆ ในมื้ออาหารด้วยเสียอีก

รายงานผลการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารกุมารเวชศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ทีมวิจัยใช้วิธีการประเมินถึงบ้านสำหรับเด็กในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 917 คน อายุระหว่าง 2-6 ปี โดยใช้แบบประเมินทางกุมารเวชศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน ควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์ผู้เลี้ยงดูเด็ก เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินและอาการเชิงจิตวิทยาของเด็กต่างๆ

ผลการเก็บและประเมินข้อมูลพบว่า ราว 1 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่าง จัดได้ว่าเป็นเด็กเลือกกินอาหาร โดยมีพฤติกรรมเลือกกินบ่อย หรือทุกครั้ง ในจำนวนเด็กที่เลือกกินอาหารทั้งหมด มีเกือบ 18 เปอร์เซ็นต์ ที่จัดอยู่ในระดับการเลือกกินปานกลาง ในขณะที่อีกราว 3 เปอร์เซ็นต์ จัดอยู่ในกลุ่มมีอาการเลือกกินรุนแรง ซึ่งหมายความว่า อาการเลือกกินของเด็กกลุ่มนี้ส่งผลให้เกิดการจำกัดการกินอาหารร่วมกับผู้อื่นในครอบครัว

ทีมวิจัยพบว่า เด็กๆ ที่แสดงอาการเลือกกินทั้งในระดับปานกลางและระดับรุนแรง มีแนวโน้มที่มีนัยสำคัญต่อการแสดงอาการทางจิตอย่างเช่น อาการกระวนกระวายในการเข้าสังคม, อาการหดหู่ ซึมเศร้า, และความผิดปกติทางจิตอื่นๆ กลุ่มที่เลือกกินปานกลาง มีแนวโน้มว่าจะเกิดอาการกระวนกระวาย และอาการสมาธิสั้น/ไฮเปอร์แอ๊กทีฟ (เอดีเอชดี) แต่ไม่พบความเชื่อมโยงของพฤติกรรมดังกล่าวต่อกลุ่มเด็กที่มีอาการเลือกกินรุนแรง เพราะกลุ่มตัวอย่างของเด็กที่มีอาการรุนแรงมีน้อยเกินไป

ทั้งนี้ ทีมวิจัยพบด้วยว่า เมื่อเด็กโตขึ้นและอาการเลือกกินหายไป อาการทางจิตที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้ลดลงตามไปด้วย ตรงกันข้ามยิ่งจะเลวร้ายมากขึ้นเมื่อเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยทางทีมวิจัยเลือกเด็กในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 187 คน สำหรับเป็นกลุ่มที่ต้องติดตามพฤติกรรมต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี หลังการประเมินครั้งแรก และพบข้อเท็จจริงดังกล่าวรวมทั้งข้อบ่งชี้ที่ว่า เด็กที่เลือกกินจะมีโอกาสแสดงอาการทางจิตเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่า ของอาการกระวนกระวายที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป

โคปแลนด์ยอมรับว่า แม้แต่ทีมวิจัยเองยังประหลาดใจที่เห็นว่าหลังจาก 2 ปีผ่านไปแล้ว ปัญหาที่ทำนายไว้ก่อนหน้านี้เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มเด็กที่มีอาการเลือกกิน แม้ว่าจะไม่เกิดขึ้นกับทุกๆ ราย แต่ก็มากพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่าอาการเลือกกินอาหาร หรือกินยากของเด็กๆ นั้นไม่ควรถูกละเลย

แต่ต้องให้ความสนใจติดตามการแสดงออกทางอารมณ์ของเด็กๆ เหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ปัญหาแต่ต้นมือต่อไป

ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.istockphoto.com/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook