อาการปวดท้องน้อยในคุณผู้หญิง

อาการปวดท้องน้อยในคุณผู้หญิง

อาการปวดท้องน้อยในคุณผู้หญิง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“โอย...โอย...ปวดท้องอีกแล้ว มีประจำเดือนทีไรปวดท้องน้อยทุกทีเลย”

ขอบคุณภาพประกอบ : http://kimberlysnyder.com

อาการปวดท้องน้อยเรียกได้ว่าเป็นโรคฮิตที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง และถือว่าเป็นอาการอันดับหนึ่งที่ทำให้คุณผู้หญิง ต้องมาพบสูตินารีแพทย์เพื่อตรวจและรักษา บางคนเป็นแค่ชั่วคราวอาการก็หายไป แต่บางคนเป็นเรื้อรังไม่หายสักที เบื้องต้นควรเข้าใจให้ตรงกันว่า บริเวณท้องน้อยของคุณผู้หญิงที่หมายถึงนั้น ก็คือบริเวณช่องท้องส่วนล่าง นับตั้งแต่ตำแหน่งสะดือลงมาจนถึงขอบบนของกระดูกเชิงกราน บริเวณทั้งหมดนี้จะมีอวัยวะสำคัญ ได้แก่

มดลูก ปีกมดลูกทั้งสองข้าง(คือท่อนำไข่และรังไข่ทั้งสองข้าง)
กระเพาะปัสสาวะอยู่ด้านหน้าของมดลูก
ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และไส้ติ่ง
ท่อไตทั้งสองข้างที่อยู่ในผนังช่องท้องด้านหลัง

ที่สำคัญทุกอวัยวะดังกล่าวสามารถทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยได้ทั้งสิ้น โดยอาจจะเกิดจากการอักเสบ การบาดเจ็บ การเป็นเนื้องอกหรือเป็นมะเร็ง แม้กระทั่งการผิดปกติมาแต่กำเนิด เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น

1.โรคของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี คือ มดลูก และรังไข่ที่ทำให้ปวดท้องน้อยได้บ่อยๆ

- กลุ่มที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่ทำให้ปวดท้อง เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก การแท้งลูก เป็นต้น

- กลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เช่น การอักเสบในอุ้งเชิงกราน ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ผิดที่(ช็อคโกแลตซีสต์)

- การปวดประจำเดือนที่มดลูกและรังไข่ปกติ การมีเนื้องอกของมดลูก มีเนื้องอกของรังไข่ที่มันแตกหรือบิดขั้ว เป็นต้น

2.โรคของระบบทางเดินปัสสาวะ คือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือที่ท่อไต เป็นต้น

3. โรคของระบบทางเดินอาหารที่ทำให้ปวดท้องน้อย ที่พบบ่อย เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อักเสบ หรือมีการทำงานของลำไส้แปรปรวน มีท้องเสียบ้าง ท้องผูกบ้าง หรือการมีเนื้องอกหรือมะเร็งของลำไส้ เป็นต้น

ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.whoknewtips.com/

แนวทางการรักษา

- แพทย์ผู้ดูแลจะทำการซักถามประวัติความเป็นมาต่างๆ ลักษณะการปวดว่าเป็นแบบใด ปวดที่ตรงไหน ปวดเวลาใด เวลาปวดสัมพันธ์กับอะไร เช่น มีคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปัสสาวะลำบาก หรือมีเลือดออกมาจากทางช่องคลอดด้วยหรือไม่ เป็นต้น

- การตรวจร่างกายทุกๆ ระบบ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงก็ต้องตรวจภายในด้วย

- การตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น การเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ อาจจะมีการถ่ายภาพรังสีเอ็กเรย์ การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ และการตรวจพิเศษอื่นๆ ตามความจำเป็น เช่น ต้องส่องกล้องเข้าไปดูในช่องท้อง หรือส่องดูในลำไส้หรือไม่ เป็นต้น

เมื่อได้ข้อมูลเพียงพอสำหรับการวินิจฉัยโรคแล้ว ก็จะให้การรักษาตามที่คิดว่าจะเป็นโรคนั้นๆ ไป ซึ่งอาจจะเป็นการให้ยา การผ่าตัด การนัดตรวจติดตามเป็นระยะหรือแม้กระทั่งการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวก็เพียงพอแล้วสำหรับโรคบางโรค แต่จากความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้เกิดเทคโนโลยี “การผ่าตัดผ่านกล้อง” ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่จะตอบโจทย์ของผู้ป่วยได้ดี

“การผ่าตัดผ่านกล้อง” เป็นการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการผ่าตัด แพทย์ผู้ผ่าตัดจะทำการผ่าตัดผ่านเครื่องมือขนาดเล็ก โดยการมองผ่านกล้องที่ส่งสัญญาณภาพมายังจอทีวี โดยที่แพทย์จะเปิดแผลเล็กๆ ขนาด 5-10 มม. บริเวณสะดือเพื่อใส่กล้องผ่าตัดเข้าไปและใส่ลม (คาร์บอนไดออกไซด์) เข้าไปในท้องเพื่อทำให้เกิดช่องว่าง ให้ทำการผ่าตัดได้ คล้ายกับการเป่าลูกโป่ง จากนั้นแพทย์จะทำการเปิดแผลขนาด 5 มม. อีก 2-3 ตำแหน่งเพื่อใส่เครื่องมือผ่าตัด (ดังรูปที่แสดง)

ในปัจจุบันเรานำการผ่าตัดผ่านกล้องมาใช้ในการวินิจฉัยและรักษา ได้แก่ การผ่าตัดทางนรีเวชวิทยา คือ มดลูกและรังไข่ ทั้งเนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri) โดยเฉพาะโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และช็อคโกแลตซีสต์ เนื่องจากภาพที่เราเห็นจากจอภาพรับสัญญาณนั้นจะมีกำลังขยายมากกว่าสายตาคนปกติได้ถึง 10 เท่า ทำให้แพทย์สามารถตัดเอาเนื้อส่วนที่เป็นรอยโรคออกได้มากกว่า เพื่อลดอัตราการกลับเป็นซ้ำของโรค รวมทั้งการผ่าตัดรักษาการตั้งครรภ์นอกมดลูก เนื้องอกหรือซีสต์ที่รังไข่ เป็นต้น นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในบางระยะก็สามารถทำการผ่าตัดผ่านกล้องได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นกับสภาวะของโรคซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป

ข้อดีในการทำผ่าตัดส่องกล้อง

· แผลผ่าตัดเล็ก

· อาการปวดแผลน้อย

· นอน รพ. เพียง 1-2 วันหลังผ่าตัด

· เสียเลือดน้อยกว่าการผ่าหน้าท้องปกติ

· โอกาสติดเชื้อจากผ่าตัดได้น้อยกว่า

· ผู้ป่วยฟื้นตัวลุกเดินทำกิจวัตรได้เร็ว

ข้อห้ามในการทำผ่าตัดส่องกล้อง

· คนไข้ที่มีข้อห้ามในการใช้แก็สคาร์บอนไดออกไซด์

· คนไข้ที่ไม่สามารถนอนราบศีรษะต่ำได้

หมายเหตุ : หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีอาการอืดแน่นท้องจากลมที่ยังค้างอยู่ในท้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเจ้าพระยา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook