มากกว่าของเล่น 'แพรพรรณ ธรรมวัฒนะ' เจ้าของอาณาจักรของเล่นใหญ่ที่สุดในประเทศ

มากกว่าของเล่น 'แพรพรรณ ธรรมวัฒนะ' เจ้าของอาณาจักรของเล่นใหญ่ที่สุดในประเทศ

มากกว่าของเล่น 'แพรพรรณ ธรรมวัฒนะ'  เจ้าของอาณาจักรของเล่นใหญ่ที่สุดในประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากยังจำกันได้ 3 ปีก่อน ประเทศไทยมีอีเวนต์ของเล่นที่ใหญ่ที่สุดครั้งแรกเกิดขึ้นในชื่องาน ‘Thailand Toy Expo 2013’ งานนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนในแวดวงของเล่น ของสะสม เพราะช่วยกระตุ้นให้สังคมคนสะสมของเล่นคึกคัก ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังก็คือ ’แพร - แพรพรรณ ธรรมวัฒนะ’ นักธุรกิจสาววัย 28 ปี ผู้ก่อตั้ง ‘Play House’ ร้านขายของเล่นลิขสิทธิ์จากดีสนีย์ และงานทอยดีไซด์ ที่ครบวงจรที่สุดในเมืองไทย

เดิมทีก่อนที่จะมาจับธุรกิจนี้เธอสารภาพตรงๆ ว่าไม่มีประสบการณ์ในแวดวงของเล่นเลย แต่จากการชักชวนของน้องชายให้มาช่วยงาน Thailand Toy Expo ทำให้เธอมองเห็นโอกาส เลยลงมือศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจนี้เกือบ 2 ปีก่อนเปิดอาณาจักรของเล่นอย่างที่ตั้งใจ และไม่นาน Play House ก็กลายเป็นร้านของเล่นที่โดนใจนักสะสมทั้งไทยและเทศ ด้วยบริการที่เอาใจใส่ เป็นกันเอง และมีสินค้าให้เลือกเยอะ ล่าสุด Play House เพิ่งคว้ารางวัล ‘Best Toy Store 2015’ จากงาน Designer toy awards ในฐานะร้านขายงานทอยดีไซน์ที่ดีที่สุดในโลก ผ่านการโหวตโดยลูกค้าทั่วโลก รวมถึงงาน ‘Thailand Toy Expo’ ที่เธอจัดต่อเนื่อง 3 ปีติด ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีถึงขั้นเตรียมจัดปีที่ 4 แล้ว สำหรับคนอื่นอาจมองว่าของเล่นเป็นเรื่องเล่นๆ แต่สำหรับเธอของเล่นให้อะไรที่มากกว่านั้น ซึ่งเธอได้แชร์ให้เราฟังในวันนี้

ตอนเริ่มทำ ‘Play House’ มีแต่คนไม่เห็นด้วย คิดว่าของเล่นจะไปทำกำไรอะไร รวมถึงหลายคนยังคงมองว่าของเล่นเป็นเรื่องสำหรับเด็ก ซึ่งจริงๆ แล้วอายุเท่าไหร่ก็สะสมได้ ดังนั้นกว่าจะเปิดตลาดได้ก็ยากพอสมควรเพราะที่ผ่านมาไม่มีใครทำธุรกิจอย่างเรามาก่อน เราถือว่าเป็นคนแรกๆ ที่สร้างกระแสในวงการของเล่น ของสะสมในเมืองไทย เป็นคนแรกที่จัดงานของเล่น ‘Thailand Toy Expo’ ถึง 3 ปีติดกัน (ร่วมกับน้องชาย ‘พงศธร ธรรมวัฒนะ’) และเราเป็นคนแรกที่เปิดร้านของเล่น และขายงานทอยดีไซด์ อย่างเต็มรูปแบบที่สุดในเมืองไทย เลยทำให้เราเป็นตัวเลือกแรกๆ ของลูกค้าเสมอหากจะหาของที่เขาต้องการ จนถึงวันนี้ก็ 1 ปีครึ่งแล้ว ‘Play House’เติบโตได้อย่างน่าพอใจ มีโอกาสขยายสาขาไปยังที่ต่างๆ ลูกค้าแวะเวียนมาเสมอทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ยอดขายดีขึ้น เริ่มไปได้ด้วยตัวของมันเอง

ยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะ แม้วันนี้ Play House จะขายดี พอเป็นที่รู้จักบ้างแล้ว แต่เรายังไม่รู้เรื่องในกระบวนการทำงานทั้งหมด ลองผิดลองถูกก็เยอะ เราเคยคิดว่าเรารู้ใจผู้บริโภคดีแล้ว แต่ในความเป็นจริง play House สาขาอื่นผู้บริโภคไม่ได้มีพฤติกรรมเหมือนกัน ทุกอย่างต่างกันหมดเลย แพรจึงต้องเรียนรู้ใหม่ ทุกอย่างที่สอนเรามาจากลูกค้า พนักงาน และประสบการณ์ล้วนๆ แพรมองว่าช่วง 1 ปีครึ่งที่เราดำเนินกิจการมานั้นเป็นช่วงเวลาที่เรากำลังเรียนรู้ สร้างประสบการณ์และภูมิคุ้มกันให้เรามากขึ้น เพื่อที่ปีต่อๆ ไปจะได้เก็บประสบการณ์นั้นมาพัฒนาร้านต่อไป และเข้าใจในผู้บริโภคมากขึ้น

ตัวอย่างที่ดีไม่ใช่แค่คำสอน แพรทำงานคู่กับพนักงานเสมอเพื่อให้เห็นว่าเขาไม่ได้ทำงานคนเดียว แพรก็ทำด้วย เราไม่ใช่เจ้านายประเภทนั่งอยู่เฉยๆ รอนับเงิน ทุกคนลำบากยังไง แพรลำบากเท่ากัน พนักงานกลับเที่ยงคืน แพรกลับตี 1 พนักงานมาแปดโมง แพรมา 7 โมง เราทำให้พวกเขาเห็นว่าเราทุ่มเทมาก ในร้านแพรทำมาหมดทุกตำแหน่ง (หัวเราะ) เป็นพนักงานขาย แคชเชียร์ แม่บ้าน แบกของ ส่งของ แพรมักบอกเสมอว่าถ้าวันไหนขาดคนให้เรียกแพรเป็นคนแรก เพราะแพรน่าจะเป็นคนที่ว่างที่สุดแล้ว (หัวเราะ) ต่อให้ยุ่งแค่ไหนแพรก็มาเพราะมันคือร้านของเรา ไม่ต้องเกรงใจ

แพรเชื่อในการตัดสินใจของคนอื่น ไม่ว่าจะตำแหน่งอะไร แพรต้องเชื่อเพราะเขารู้ดีกว่าเราแน่นอน ไม่อย่างนั้นจะจ้างมาทำไม (หัวเราะ) เราจะไม่ใช่เจ้านายประเภททุกอย่างต้องตามฉันเท่านั้น แต่ก่อนที่จะตัดสินใจเราก็จะถามก่อนอยู่แล้วว่าสิ่งที่คุณเสนอมันดีใช่ไหม ถ้าคุณเห็นว่ามันดีกับร้านแพรก็จะเชื่อ เราเป็นคนที่เปิดรับความคิดเห็นคนอื่น กล้าที่จะเรียนรู้ ไม่ยึดติดว่าเราเป็นใคร แล้วคนที่สอนเราเป็นใคร มัวแต่ยึดติดว่าเราต้องเป็นที่หนึ่งก็จะทำให้คนทำงานด้วยลำบากเปล่าๆ หลายประสบการณ์จากการทำงานส่วนหนึ่งเราก็ได้มาจากพนักงานของเรานั่นแหละที่สอนเราทั้งทางตรง และทางอ้อม

ลูกค้ากลับมาหาเพราะความเป็นกันเอง ลูกค้าสนิทกับพนักงานเหมือนเพื่อน ไม่ซื้อแวะมาคุยเล่นก็มี มันเลยตรงกับคอนเซปต์ที่เราสร้างPlay House ขึ้นมานั่นก็คือแพรอยากทำให้ร้านนี้เป็นเหมือนบ้านใหม่ของทุกคน ลูกค้าสามารถเดินดูรอบร้าน ถ่ายรูปของเล่นเราได้หมดขณะที่หลายร้านหวงไม่ยอมให้ถ่าย ล่าสุดมีลูกค้าจากไต้หวันมาดูของที่ร้านแล้วขอถ่ายรูปไป เราก็อนุญาต และให้เขาหยิบของเล่นมาถ่ายรูปคู่ด้วย ซึ่งในเวลาต่อมาเขานำเรื่องนี้ไปเขียนลงบล็อคชมว่าร้านเรามีมารยาท ใจดี ไม่หวงของ ไม่นานคนที่อ่านบล็อคเขาก็แวะมาเยี่ยมร้านเราเยอะมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี

แพร เป็นคนประเภท ‘ทำดีเสมอตัว ทำชั่วขาดทุน’ คนที่ไม่รู้จักแพรส่วนใหญ่คิดว่าเราใช้เงินของที่บ้านมาทำธุรกิจ จะทำธุรกิจอะไรก็ได้ ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร เอาเงินมาโยนทิ้งๆ ขวางๆ ไป ซึ่งความเป็นจริง เงินที่ลงทุนมาจากเงินที่แพร ไปกู้ธนาคารมา มีเพียงส่วนน้อยที่แพร ขอกู้แม่ ไม่ใช่ขอไปเลย เรากู้ธนาคารมา 90% อีก 10% ขอยืมแม่ แพรก็เริ่มต้นทำธุรกิจด้วยการเป็นหนี้ เหมือนกับหลายๆ คนนั่นแหละ หรือต่อให้แม่แพรมีเงินมหาศาลเราก็ไม่ขอ เพราะเราอยากทำสิ่งที่เรารักด้วยตัวเอง ถ้าแพรขอเงินแม่มาทำสร้างธุรกิจของตัวเอง แล้วความภูมิใจมันอยู่ที่ไหน มันพูดได้ไม่เต็มปากหรอกว่าเป็นฝีมือเรา

My Profile
การศึกษา : ปริญญาตรี และปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยคิงส์ตัน คอลเลจ ประเทศอังกฤษ

อาชีพ : ผู้ก่อตั้งร้าน Play House, กรรมการบริหาร บริษัท เพลย์ เฮ้าส์ จำกัด และ กรรมการบริหาร บริษัท รีเทล มี จำกัด

After work
ปกติแพร ทำงานทุกวัน วันธรรมดาทำงานที่ออฟฟิศ เสาร์ อาทิตย์ ไปดูร้านสาขาต่างๆ ดังนั้นถ้าว่างจริงๆ แพร จะอยู่เฉยๆ (หัวเราะ) ดูซีรีย์ไปเรื่อยๆ ค่ะ ซึ่งเดือนนึงจะมีแค่ไม่เกินสองวัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook