หลักการใช้ชีวิตคู่ให้มั่นคงและยืนยาว

หลักการใช้ชีวิตคู่ให้มั่นคงและยืนยาว

หลักการใช้ชีวิตคู่ให้มั่นคงและยืนยาว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อคนสองคนตัดสินใจมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน หรือตัดสินใจแต่งงานกัน จุดนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการมีชีวิตครอบครัว ซึ่งจุดหมายปลายทางของแต่ละครอบครัวจะเป็นแบบใดนั้น คงไม่สามารถคาดการณ์หรือบอกได้ว่า คุณสองคนจะเดินทางไปด้วยกันจนถึงจุดหมายปลายทางดังที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้อวยพรไว้ในวันสมรสว่า“ขอให้ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร” ได้หรือไม่เพราะการที่คนสองคนต้องมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ในช่วงระยะข้าวใหม่ปลามันอะไรๆ เราก็พอจะยอมได้ แต่เมื่อชีวิตคู่เดินทางไปซักระยะหนึ่ง ความเป็นตัวตน นิสัยที่แท้จริงของแต่ละคนก็จะแสดงออกมา การจะให้เรามีนิสัยที่ถูกใจ ดีพร้อมสำหรับอีกคนคงเป็นเรื่องที่ยาก

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้คนสองคนที่มาจากต่างครอบครัว ต่างการเลี้ยงดูสามารถมีชีวิตคู่ที่มีความสุข หวานชื่นได้อย่างยืนยาวได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งสองฝ่ายที่จะเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากัน หลักสำคัญที่จะช่วยรักษาความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ให้เข้มแข็งและมั่นคงยาวนาน คือ

1. การยอมรับกันและกัน เป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นของการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เพราะการที่คนสองคนต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันตลอดชีวิต ต้อเห็นหน้ากันทุกวัน ต้องมีกิจกรรมทุกวันร่วมกัน ต้องปรึกษาหารือกันทุกวัน แก้ปัญหาร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การยอมรับกันในทุกแง่มุมจะช่วยให้ทั้งคู่อยู่ด้วยกันโดยไม่ขัดแย้งทางความคิดและอารมณ์ ไม่รำคาญกัน ไม่เบื่อกัน ไม่ดูถูกกัน ไม่เกลียดกัน ลักษณะการยอมรับกันและกันได้ มีเครื่องบ่งบอกต่างๆ เช่น การมองอีกฝ่ายในแง่ดี พอใจในคู่ชีวิตทั้งรูปร่างหน้าตา สติปัญญา ความคิดเห็นและจิตใจ จะช่วยทำให้ทั้งคู่สื่อสารกันได้อย่างราบรื่น แม้ต่อการตอบสนองทางเพศสัมพันธ์ที่คู่สมรสมอบหมายให้ ยอมรับในตัวตนรวมไปถึงค่านิยมต่างๆ ของอีกฝ่ายหนึ่ง

2. อย่าคาดหวังว่า “คู่ครองของคุณ” จะสมบูรณ์แบบ เพราะไม่มีใครที่จะสมบูรณ์แบบไปทั้งหมด แม้แต่ตัวของเราเองยังมีทั้งจุดที่ดีและไม่ดี การมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกันจำเป็นต้องเรียนรู้ ที่จะพึงพอใจกับข้อดีของกันและกัน ยอมรับข้อเสียของกันและกัน เราไม่สามารถคาดหวังว่าเราจะเข้ากันได้กับคู่ครองของเราทุกๆ เรื่อง หรือ จะไปคาดหวังให้เขาทำในสิ่งที่เราต้องการ แต่ต้องอาศัยวิธี “การปรับตัว” เข้าหากัน ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองและ/หรือปรับตัวให้ยอมรับสิ่งที่อีกฝ่ายเป็นบ้างเพื่อให้อยู่กับเขาอย่างไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะนิสัยบางอย่างไม่สามารถปรับกันได้ จึงอย่าคาดหวังให้มองส่วนที่ดีซึ่งกันและกัน

3. รู้จักที่จะสื่อสารกัน ในทางจิตวิทยาถือว่าเป็นการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่งของชีวิตคู่ เพราะการสื่อสารเป็นการใช้ภาษาเพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจความคิด ความรู้สึก และความต้องการของกันและกัน แต่ในความเป็นจริงที่พบในชีวิตคู่ ยิ่งอยู่กันนานคู่สามีภรรยาก็ยิ่งจะสื่อสารกันน้อยลงและคิดเอาเองว่าอยู่กันมาตั้งนานน่าจะรู้ว่าอีกฝ่ายคิดและต้องการอะไร ซึ่งถ้ามาองแล้วเข้าใจถูกก็ดีไปถ้าแปลความหมายผิดก็อาจทำให้ครอบครัวมีปัญหาได้ ทางที่ดีควรเรียนรู้ที่จะพูดและแสดงออกว่าคุณรู้สึกอย่างไร เพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าคุณกำลังรู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร

4. การรู้จักขออภัยจากกัน หากคู้สมรสยอมรับซึ่งกันและกันเท่าทีสามารถยอมรับกันได้และพยายามปรับตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ยังมีเรื่องที่คู่ของเราทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียใจขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งคู่ควรรู้จักให้อภัย ไม่เก็บความโกรธแค้นขุ่นเคืองไว้ใจ สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีมากในชีวิตสมรส

5. การมีเวลาอยู่ร่วมกัน หลังแต่งานคู่สมรสควรมีเวลาให้กัน เพื่อใช้เวลาในการอยู่ร่วมกัน สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตคู่ เพราะการมีเวลาอยู่ร่วมกันยอมรับทำให้คุณสามารถสื่อสารกับคู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ต่างคนต่างต้องทำงานนอกบ้าน เวลามีให้กันอาจจะไม่มากนัก แต่คุณทั้งสองสามารถทำให้เวลาที่มีอยู่ในแต่ละวันมีคุณภาพอย่างแท้จริง โดยการทำกิจกรรมที่พอใจและมีความสุขร่วมกัน ตลอดจนคุณควรให้ความสนใจต่อสิ่งที่คุณชอบด้วยเช่น อย่างไรก็ตามการมีช่องว่างในความสัมพันธ์ระหว่างกันบ้างย่อมเป็นเรื่องธรรมดาและอาจเป็นสีสันในการใช้ชีวิตคู่

6. เพศสัมพันธ์ในชีวิตคู่ การสร้างความสมดุลในเรื่องเพศสัมพันธ์ ย่อมนำมาซึ่งความพึงพอใจของคู่สมรส และถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ชีวิตคู่ราบรื่นและเป็นสุข คู่สมรสจำเป็นต้องเรียนรู้ความต้องการของกันและกัน รู้ว่าคู่ของเราชอบหรือไม่ชอบอะไร แบบไหนกันที่ทำให้คู่ของเรามีความสุข เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงความสัมพันธ์ทางเพศให้พึงพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

7. เรียนรู้และทำความเข้าใจธรรมชาติความแตกต่าง ระหว่างเพศชายเพศหญิง เพราะความแตกต่างระหว่างเพศส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมต่างกัน ธรรมชาติผู้ชายจะชอบใช้เหตุผล ไม่สนใจเรื่องความรู้สึกมีความสุขุมนิ่งและแข็งแรงมากกว่า ต้องการความเป็นส่วนตัว กลัวการขาดอิสระ แต่ต้องการดูแลเอาใจใส่ ถืออำนาจ เกียรติและศักดิ์ศรี ต้องการเป็นผู้นำ ไม่ชอบพูดเรื่องไร้สาระ ไม่ชอบการถูกตำหนิ การบ่น ในขณะที่ผู้หญิงจะมีลักษณะตรงกันข้าม แต่หากมองว่านี่คือธรรมชาติที่แตกต่างกัน และพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากันได้และรู้จักใช้ส่วนดีของแต่ละฝ่ายที่ธรรมชาติสร้างมา เมื่อนั้นชีวิตคู่จะมีความสุข

8. รู้จักภาระหน้าที่ในครอบครัวและช่วยเหลือกัน สามี ภรรยาจะมีบทบาทและหน้าที่ของตนเอง โดยทั่วไปทั้งคู้จะมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการเป็นสามีภรรยา การหาเลี้ยงชีพ ทำงานบ้าน และเลี้ยงลูก ดังนั้นจึงควรคุยกันว่าแต่ละฝ่ายมีบทบาทหน้าที่ดังกล่าวมากน้อยเพียงใดและอย่างไร

9. การจัดการกับความขัดแย้ง ความขัดแย้งถือเป็นเรื่องปกติของการใช้ชีวิตคู่ ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้ง การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะจะนำไปสู่การหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน จุดสำคัญในการพูดคุย ไม่ควรพูดคุยกันในขณะที่อารมณ์โกรธ เพราะจะนำไปสู่การโต้ถียงกันมากกว่า ควรรอให้ต่างฝ่ายต่างอารมณ์เย็นแล้วมาพูดคุยปรับความเข้าใจและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

10. เสริมความรักให้เติบโต เมื่อคู่สมรสต้องการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ทั้งสองต่างก็ต้องการความรัก ความเข้าใจ การดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ดังนั้นการแสดงออกว่ารัก และเห็นคุณค่าของกันและกันอย่างสม่ำเสมอถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่จะช่วยในการหล่อเลี้ยงจิตใจของทั้งสองฝ่าย

11. บริหารจัดการเรื่องการเงิน เพราะปัญหาเรื่องการเงินมักเป็นปัญหาใหญ่กับคู่สมรสใหม่เนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงสร้างครอบครัว และมีภาระที่ต้องใช้จ่ายมากกว่าชีวิตโสด ดังนั้น คู่สมรสไม่ควรปิดบังกันในเรื่องการเงิน ต้องการวางแผนร่วมกันเกี่ยวกันการใช้จ่ายเพื่อครอบครัว โดยควรประหยัดและใช้เป็นเรื่องจำเป็น ส่วนหนึ่งต้องกันไว้เป็นเงินออมสำหรับสมาชิกในอนาคต ไม่ควรให้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นสาเหตุของปัญหาอื่น ๆ ที่จะสร้างความขัดแย้งให้ชีวิตไม่มีความสุข

12. มีชีวิตที่เป็นของตนเองด้วย เพราะถึงแม้ว่าทั้งคู่จะแต่งงานกัน แต่ต่างฝ่ายต่างก็ยังมีความเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้น จึงไม่ควรรักหรือใส่ใจคนรอบข้างจะละเลยตนเองไปให้ระลึกไว้เสมอว่า ไม่มีใครอยากรักหรือผูกผันกับคนที่ไม่รักแม้แต่ตนเอง ไม่ดูแลตนเองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากท่านรู้จักดูแลตนเอง ท่านก็จะมีความพร้อมที่จะดูแลคนรักได้ดีเช่นกัน

Credit : สำนักพัฒนาสุขภาพจิต

 

ติดตามคอลัมน์อื่นๆ เพิ่มเติม ดาวน์โหลดนิตยสารในเครือจีเอ็มได้แล้วที่   

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook