9 เรื่องที่ ‘นีน่า ทอร์ไน’ ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาว คิดว่าเธอรู้ดีกว่าเจ้าสาว?

9 เรื่องที่ ‘นีน่า ทอร์ไน’ ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาว คิดว่าเธอรู้ดีกว่าเจ้าสาว?

9 เรื่องที่ ‘นีน่า ทอร์ไน’ ดีไซเนอร์ชุดเจ้าสาว คิดว่าเธอรู้ดีกว่าเจ้าสาว?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้เขียน raikorn@hotmail.com
ที่มา คอลัมน์ ร่อนตามลม มติชนรายวัน

ไม่ใช่ “หมอดู” แต่ 9 เรื่องต่อไปนี้คือเรื่องที่ “นีน่า ทอร์ไน” ดีไซเนอร์ชาวอิสราเอลวัย 53 ปี ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการแฟชั่นออกแบบชุดเจ้าสาวมา 26 ปี และเป็นดีไซเนอร์ประจำรายการ “เซย์ เยส ทู เดอะ เดรส (Say Yes to the Dress)” ทางช่องทีแอลซี “มั่นใจ” ว่าเป็นเรื่องที่เธอรู้ แต่ “ว่าที่เจ้าสาว” หรือสาวๆ ที่กำลังจะเข้าสู่ประตูวิวาห์อาจยังไม่รู้?

ดีไซเนอร์คนสวยซึ่งผ่านการแต่งงานมา 3 ครั้ง ให้สัมภาษณ์ Cosmopolitan.com ว่าด้วยความที่เธอเคยออกแบบชุดเจ้าสาวให้ว่าที่เจ้าสาวมาแล้วหลายพันคน ทำให้เธอได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างที่พอจะบอกได้ถึงความแตกต่างระหว่างการแต่งงานที่คู่สมรสจะอยู่กินกันได้ยืนยาว หรือคู่ใดที่มีแววว่าจะอยู่กันไม่รอดตั้งแต่เริ่มต้น โดยว่า “ฉันไม่ใช่หมอดู เพียงแต่ฉันมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้มากเท่านั้น”

สำหรับ 9 เรื่องที่นีน่าได้กล่าวไว้ มีดังนี้

1.ชีวิตคู่ที่ราบรื่นเริ่มต้นด้วยธีมการแต่งงานที่ราบรื่น โดยว่า ถึงแม้รูปแบบของงานวิวาห์อาจจะไม่หรูหรา ใหญ่โต หรืออาจดูเป็นงานเล็กๆ ในสายตาใคร แต่นีน่าบอกว่า “สิ่งสำคัญคือ ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะต้องรู้สึกแฮปปี้ ต้องรู้สึกว่าได้จัดงานตามรูปแบบที่พวกเขาอยากได้และมีความสุขกัน เพราะมันแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความสนใจคล้ายๆ กัน และเต็มใจที่จะข้ามขั้นตอนตามประเพณีบางอย่าง เพื่อเลือกทำสิ่งที่พวกเขาชอบมากกว่า”

2.ชุดเจ้าสาวที่อู้ฟู่ หรูหราราวกับชุดเจ้าหญิง เป็นสิ่งบ่งบอกได้อย่างหนึ่งว่า เจ้าสาวต้องการมั่นใจว่าวันวิวาห์คือวันของเธอ “เธอต้องการเป็นจุดสนใจ ยิ่งชุดเจ้าสาวยิ่งใหญ่ ยิ่งอู้ฟู่หรูหราเท่าไร ยิ่งแสดงให้เห็นว่าเธอต้องการสร้างอาณาเขตของตัวเธอ ซึ่งมันก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี เพราะจริงๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับเจ้าบ่าว ถ้าหากเจ้าบ่าวก็ต้องการเป็นจุดสนใจในงานด้วย คุณก็อาจมีปัญหา เมื่อคุณต้องเผชิญกับสภาพที่ต้องแชร์ความเป็นที่สนใจ แต่ถ้าหากเจ้าบ่าวเต็มใจที่จะเป็นคนยืนอยู่เบื้องหลังมากกว่า เมื่อเจ้าสาวดูสวย ผมก็รู้สึกว่าตัวเองพลอยดูดีไปด้วย มันก็ลงตัว แฮปปี้”

3.Bodycon = confident หรือ Bodycon = ความมั่นใจ นีน่ากล่าวว่า “เจ้าสาวที่เลือกชุดเจ้าสาวที่เข้ารูป แสดงให้เห็นว่าเจ้าสาวมีความมั่นใจในตัวเอง และมั่นใจในความสัมพันธ์ด้วย”

4.เวลาไปเลือกชุดเจ้าสาว ยิ่งมีคนไปช่วยเลือกน้อยเท่าไรยิ่งดี “โดยทั่วไปหากเจ้าสาวพาญาติหรือเพื่อนๆ มาเป็นกลุ่มใหญ่ นั่นหมายความว่าเธอไม่มั่นใจในความคิดเห็นของเธอ” ซึ่งนีน่าได้พูดถึงความมั่นใจของเจ้าสาวเวลาไปลองชุดที่ร้านว่า เป็นเครื่องชี้ได้อย่างหนึ่งว่าเธอมีความมั่นใจในความสัมพันธ์ขนาดไหน

5.นับเป็น “สัญญาณที่ดี” เมื่อเจ้าบ่าวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องชุดด้วย ทั้งนี้ นีน่าเล่าว่า ที่เห็นอยู่บ่อยๆ ก็คือ เจ้าบ่าวมักไม่ค่อยไปกับเจ้าสาวเวลาเลือกชุดแต่งงาน แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา ถ้าหากว่าถึงไม่ไปด้วย แต่เจ้าบ่าวก็ช่วยให้กำลังใจ ให้ความสนับสนุน แต่ถ้าหากเจ้าบ่าวมีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือพยายามจะ “ควบคุม” ว่าเจ้าสาวควรจะต้องใส่ชุดแบบไหน นั่นก็เป็นลางไม่ค่อยดีสำหรับความสัมพันธ์ ยิ่งถ้าหากเจ้าบ่าวมาพูดถึงสิ่งที่เขาไม่ชอบ ไม่พอใจกับ

ดีไซเนอร์ แทนที่จะไปพูดกับว่าที่เจ้าสาวโดยตรง “ถ้าเจ้าบ่าวมาบอกกับฉันว่าผมอยากให้ชุดเจ้าสาวดูเรียบร้อย ปกปิดมิดชิดกว่านี้ หรือผมอยากให้เธอใส่ชุดสไตล์นั้นมากกว่า นั่นก็ชัดเจนเลยว่าเจ้าบ่าวคือคนที่เป็นฝ่ายตัดสินใจ ซึ่งบางคนอาจจะชอบ หรือบางคนอาจไม่ชอบ ทีนี้มันก็ขึ้นอยู่กับการเลือกของคุณ (เจ้าสาว) แล้วล่ะ สิ่งสำคัญคือคุณต้องรู้ว่าคุณเป็นแบบไหน และมีความสุขกับความสัมพันธ์แบบไหน”

6.ถ้าหากคุณไม่รู้สึกตื่นเต้นดีใจกับการไปเลือกหาชุดเจ้าสาวเลย แสดงว่าอาจมีอะไรผิดปกติ หรือไม่ใช่แล้วล่ะ นีน่าบอกว่า สำหรับคนที่แค่ไม่ชอบ ไม่อยากยุ่งยากกับเรื่องแต่งงานเท่านั้น ก็โอเค แต่ถ้าคุณเป็นผู้หญิงที่ฝันถึงงานวิวาห์และชุดวิวาห์มาตลอดชีวิต แต่คุณกลับไม่มีความสุขที่จะไปลองชุดเจ้าสาว แสดงว่าต้องมีปัญหาบางอย่างแล้วล่ะ

7.ถ้าคุณมัวแต่จ้องหา “ข้อตำหนิ” เรื่องชุดเจ้าสาว โดยที่ข้อตำหนินั้นๆ ไม่ได้มีอยู่จริง บางทีมันอาจแสดงว่าคุณยังไม่พร้อมจะแต่งงาน คุณอยากจะเลื่อนงานวิวาห์ออกไปก่อน ทั้งนี้ นีน่าเล่าว่า เธอเคยเจอเจ้าสาวหลายคนที่เริ่มแรกก็ดูชื่นชอบ ปลื้มชุดเจ้าสาวมาก แต่กลับมารับชุดเจ้าสาวตอนใกล้ๆ วันแต่งงาน ซึ่งนีน่าเล่าว่า จากประสบการณ์ของเธอ ปัญหาหรือคำบ่น คำตำหนิต่างๆ ที่จริงมันไม่ได้เกี่ยวกับชุดเลย แต่มันคือสิ่งสะท้อนถึงความรู้สึกของเจ้าสาวที่มีต่องานวิวาห์ที่กำลังใกล้เข้ามา ซึ่งหากเจอสถานการณ์แบบนี้ นีน่าเล่าว่า เธอจะพยายามเข้าไปพูดคุยกับเจ้าสาวเพื่อให้พูดถึงปัญหาหรือเรื่องที่รบกวนจิตใจออกมา บางครั้งก็จะแนะนำไปตรงๆ ว่าคุณรู้อะไรมั้ย ฉันว่าคุณควรเลื่อนงานแต่งออกไปก่อนเถอะ ฉันจะเก็บชุดไว้ให้คุณ ถ้าหากคุณต้องการเวลาคิดทบทวนเรื่องนี้อีกสักพัก ฉันเองก็เคยผ่านการแต่งงานครั้งแรกที่ล้มเหลว และฉันก็ไม่ต้องการให้ใครเจอ

8.เจ้าบ่าวจะใส่ชุดแบบไหนไม่ใช่เรื่องสำคัญ นีน่าเล่าว่า เธอเองเคยเห็นมาเยอะที่เจ้าสาวเลือกชุด “จัดเต็ม” ราวกับเจ้าหญิงดิสนีย์ ขณะที่เจ้าบ่าวเลือกชุดที่ดูลำลอง สบายๆ “แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่จะชี้ว่าพวกเขาจะอยู่กันมีความสุขหรือไม่ มันแค่บอกได้ถึงรสนิยมของเขาและเธอเท่านั้น”

9.นี่คือ “ลางไม่ดี” ถ้าหากเจ้าสาวไม่เคยพูดหรือไม่เคยเอ่ยถึงเจ้าบ่าวเลย “ฉันเคยเจอเจ้าสาวที่พูดถึงแต่ตัวเอง พูดถึงแต่งานแต่งงาน พูดถึงเรื่องเงิน แต่ไม่เคยพูดอะไรเกี่ยวกับคู่หมั้นเลย ซึ่งถ้าหากเป็นแบบนั้น” นีน่าก็ว่า เธอก็ชักเริ่มสงสัยว่าเจ้าสาวคงสนใจอยากแต่งงานมากกว่าสนใจว่าเธอกำลังจะแต่งงานกับใคร

“ซึ่งถ้าหากคุณไม่ได้มีความรักในผู้ชายคนนั้นมากพอ คุณก็ไม่ควรแต่งงาน”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook