ปากัวร์-บ๊าวซ์ โดดเด้งไร้ขีดจำกัด กีฬาเสริมความแกร่งกระดูก

ปากัวร์-บ๊าวซ์ โดดเด้งไร้ขีดจำกัด กีฬาเสริมความแกร่งกระดูก

ปากัวร์-บ๊าวซ์ โดดเด้งไร้ขีดจำกัด กีฬาเสริมความแกร่งกระดูก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กีฬามักมาควบคู่กับเรื่องความตื่นเต้น ท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นทีมหรือโชว์เดี่ยว โดยเฉพาะกีฬาประเภทเอ็กซ์ตรีมทั้งหลายที่ท้าทายและใช้พละกำลังเป็นอย่างมาก

ช่วงหนึ่งเคยมีกระแสฮือฮากับคลิปวีดิโอที่มีวัยรุ่นกระโดดข้ามตึกไปมาเป็นว่าเล่น โดยใช้ชื่อเรียกว่า ฟรีรันนิ่ง ซึ่งโดยแท้แล้วการกระโดดผาดโผนเหล่านั้นมีพื้นฐานมาจาก "กีฬาปากัวร์" กีฬาที่ให้อิสระต่อการเคลื่อนไหว

ถือเป็นอีกชนิดกีฬาที่ต้องมีทักษะและเรียนรู้วิธีการ ซึ่งเหล่าคนไทยใจถึง "อย่าเพิ่งได้ไปจั๊มป์กันเอง" เพราะอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย

กีฬาประเภทนี้มีสถานที่สอนอย่างถูกต้องจริงจัง มีการเปิดสอนอยู่ใจกลางมหานครกรุงเทพ ชื่อเอเชีย ปาร์กัวร์ (Asia Parkour)

"ชูเลียง วิกรูซ์" ชาวฝรั่งเศสวัย 29 ปี ผู้ก่อตั้งสถาบันฝึกสอนปาร์กัวร์ ประจำทวีปเอเชีย บอกว่า ปาร์กัวร์ เป็นกีฬาสุดท้าทายที่มีประโยชน์มาก โดยให้คำนิยามว่า "นี่คือการเสริมสร้างความแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ" สำหรับร่างกายนั้น การเคลื่อนไหวอย่างอิสระ เป็นธรรมชาติ และยังต้องถูกวิธีนั้นจะช่วยจัดระเบียบร่างกายให้ดีขึ้น ซึ่งหลายคนมองแล้วอาจจะกลัวอันตราย ตัวเขานั้นคิดว่ากีฬาแต่ละประเภทก็มีความอันตรายทั้งสิ้น ดังนั้นการเข้ามาเรียนทักษะตั้งแต่พื้นฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการกระโดด ปีน ทรงตัว ฯลฯ ล้วนแต่มีเทคนิคที่ถูกต้องซ่อนอยู่ทั้งสิ้น

ส่วนเรื่องของจิตใจ ปากัวร์จะเพิ่มสมาธิและสร้างความมั่นใจ จนสามารถดึงเอาประสิทธิภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวมาเผยให้เห็นได้

"ผมและพี่ชายเรียนรู้ ปาร์กัวร์ จาก เดวิด เบลล์ ผู้ค้นพบกีฬาประเภทนี้ ตั้งแต่ตอนผมอายุ 15 ปี ฉะนั้นผมเป็นคำตอบของเรื่องข้อจำกัดในด้านอายุได้เลย ใครๆ ก็สามารถเล่นกีฬาชนิดนี้ได้ไม่เกี่ยวกับอายุ ข้อจำกัดด้านสุขภาพอื่นๆ เราก็ต้องมาสกรีนกันอีกที ถ้าคนที่มีปัญหาเรื่องเข่าหรือหลังจะเป็นอุปสรรคต่อการกระโดดหรือไม่ อย่างที่บอกว่าเรามีเทคนิคที่ถูกต้องช่วยเซฟร่างกาย และเราก็มีโปรแกรมสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านกายภาพด้วย ข้อจำกัดที่จะเป็นปัญหาก็คือความกลัวเสียมากกว่า"

หลายคนเมื่อเห็นวิธีการเล่นกีฬาประเภทนี้แล้ว อาจจะกังวลเรื่องความปลอดภัย "ชูเลียง" ให้ความมั่นใจโดยย้ำว่าพี่ชายของเขาคือ ผู้ก่อตั้ง Parkour Generations ซึ่งเป็นสถาบันสอนปาร์กัวร์ที่ประเทศอังกฤษ

ส่วนตัวเขาเองก็ผ่านการเทรนจากที่นั่นนานถึง 2 ปีเต็ม จนผ่านระดับ ADAPT ซึ่งเป็นประกาศนียบัตรใบแรกของปาร์กัวร์ ซึ่งรับรองโดยรัฐบาลอังกฤษ สำหรับ "เอเชีย ปาร์กัวร์" ในประเทศไทยเปิดมานาน 3 ปีเต็ม มีฟีดแบ็กที่ดีมาก

"คนที่หลงใหลความตื่นเต้นหากอยากลองปากัวร์ อย่าตั้งกรอบว่ามันเป็นเรื่องของวัยรุ่นจากที่เห็นในคลิปวีดิโอ ว่ามีความน่าหวาดเสียว อันตราย แต่ผลลัพธ์จากการฝึกแรมเดือนแรมปีจะบังเกิดผลต่อร่างกายอย่างเห็นได้ชัดในทางที่ดีขึ้น"

สำหรับคนที่กลัวและหวาดเสียวปาร์กัวร์ เพราะมีความเสี่ยงมาก ลองลดระดับดีกรีลงมาใช้อุปกรณ์มาลองกระโดดดึ๋งๆ กับการออกกำลังกายที่เรียกว่า "บ๊าวซ์" ซึ่งยังคงรูปแบบความน่าตื่นเต้นเอาไว้ เพียงแต่มีแทรมโพลีนเป็นอุปกรณ์สนับสนุนป้องกันการกระแทก ในการกระเด้งกระดอนเพื่อความปลอดภัย โดยผู้ที่สนใจจะไปกระเด้งกระโดดในลักษณะนี้ก็สามารถไปเรียนรู้ได้ที่ Bounce ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ของห้างเดอะ สตรีท รัชดา

หากดูแบบผิวเผิน "บ๊าวซ์" เหมือนจะเป็นกีฬาที่เล่นไม่ยากเพราะอาศัยแรงดีดจากอุปกรณ์ช่วย ส่งให้กระเด้งกระดอน แต่การโดดเด้งแบบไร้ทิศทางทำให้ควบคุมได้ลำบาก ขนาดผู้ที่เล่นฟรีรันนิ่งยังเอ่ยปากว่า "ยากมาก" แต่ที่แน่ๆ เป็น การออกกำลัง ที่เสียเหงื่อไม่แพ้กีฬาอื่นๆ

ข้อดีของกีฬาประเภทนี้นอกจากได้แรงและได้ออกกำลังกายแล้ว "แทรมโพลีน" จะสร้างความสนุกสนานและยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการในเด็ก โดยช่วยยืดกล้ามเนื้อที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มความสูง เพื่อกระตุ้นในแนวดิ่ง ซึ่งช่วยทำให้กระดูกหนา และแข็งแรงขึ้น โดยมีผลวิจัยว่า การบ๊าวซ์อย่างสม่ำเสมอประหนึ่งออกกำลังกาย สามารถช่วยยืดกระดูกได้ 2.5-5 เซนติเมตร

ทั้งนี้ยังช่วยให้เซลล์มีความเคลื่อนไหวผ่านไปตามจุดต่างๆ ภายในร่างกาย การเผาผลาญแคลอรี่ได้มากกว่าการวิ่งจ๊อกกิ้ง หากเทียบในระยะเวลาที่เท่ากัน อีกทั้งช่วยลดต้นขา กระชับสะโพกและทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรง จัดอยู่ในกลุ่มการออกกำลังแบบโล-อิมแพค ยิ่งหากใครที่สนใจพวกกีฬาผาดโผนทั้งหลาย ท้าทายทักษะของร่างกายด้วยการบ๊าวซ์เป็นพื้นฐานก็จะมีส่วนช่วยให้เรียนรู้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะยาก-ง่าย อุปกรณ์ช่วยเหลือจะมีหรือไม่มี สำหรับกีฬาท้าทายขีดความสามารถเหล่านี้หากหวังที่จะแตะให้ถึงความสำเร็จ ต้องผ่านการฝึกฝนที่ถูกต้อง เหมาะสม และสม่ำเสมอ

ที่สำคัญอย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ทุกคนมีข้อแตกต่าง มีความกล้ากลัวความมั่นใจ และความยืดหยุ่นของร่างกายที่ไม่เหมือนกัน คู่แข่งคือตัวเราเพียงผู้เดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook