ตัวตนที่ไม่ต้องมีคำจำกัดความของ ลลนา ก้องธรนินทร์

ตัวตนที่ไม่ต้องมีคำจำกัดความของ ลลนา ก้องธรนินทร์

ตัวตนที่ไม่ต้องมีคำจำกัดความของ ลลนา ก้องธรนินทร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

The Real Me - อดีตนางสาวไทยที่สาวๆกรี๊ด เธอกำลังเดินบนเส้นทางในฝันคือเป็นหมอ รู้จักตัวตน ชีวิตและความฝันของหมอเจี๊ยบที่คำนิยามคำใดคำหนึ่ง อาจง่ายเกินไปที่จะบอกเล่าตัวตนของเธอ

- “นี่ยังไม่ได้นอนเลย เมื่อคืนเวรดึก เพิ่งออกเวรมา” หมอเจี๊ยบ-แพทย์หญิงลลนา ก้องธรนินทร์ บอกกับเราเมื่อเดินทางมาถึงสตูดิโอ

- แต่ถึงกระนั้นคุณหมอในมาดสาวหล่อก็ยังดูสดใส และโพสท่าถ่ายแบบอย่างกระฉับกระเฉง ไม่เคยทิ้งภาพของนางสาวไทยประจำปี พ.ศ. 2549 ตั้งแต่ตอนนั้นที่เธออยู่ในวัย 18

- มาตอนนี้ด้วยวัย 28 เธอกลายเป็นคุณหมอเต็มตัว และกลายเป็นไอคอนแห่งยุคสมัยของเรา

- “เดี๋ยวเสร็จจากที่นี่คงต้องรีบกลับไปนอน เพราะคืนนี้ต้องเข้าเวรดึกตอนเที่ยงคืนอีกค่ะ”

- นี่คงพอจะอธิบายรูปแบบชีวิตของหมอเจี๊ยบในตอนนี้ได้ คือเธอต้องทำงานหนักอยู่ที่โรงพยาบาล เทรนนิ่งเป็นแพทย์ฉุกเฉินที่ดี เธอแบ่งเวลาให้เรื่องนี้ก่อนเป็นอันดับแรก

- หากพอมีเวลาเหลือ ก็ค่อยแบ่งมาทำงานถ่ายแบบในวันนี้ เพื่อพูดคุยสัมภาษณ์กันเรื่องประสบการณ์ชีวิต การทำงานเพื่อช่วยเหลือคน ความรัก สไตล์ความเป็นตัวของตัวเอง และเรื่องส่วนตัวสนุกๆ

- เธอบอกว่าไม่ต้องห่วง เจี๊ยบยังไหว นี่เป็นเรื่องธรรมดาของการเดินตามความฝัน

- ความฝันของเธอไม่ธรรมดา GM อาจจะเรียกความฝันของเธอว่าอุดมการณ์เลยก็ว่าได้ นี่คือสิ่งที่เราอยากชวนเธอมาพูดคุยกันในวันนี้

T : ณัฐพล ศรีเมือง , P : รัชพล บุญเลิศ

แค่เป็นตัวของตัวเอง

พอมีสาวหล่อมาเยี่ยมถึงถิ่น หนุ่มๆ ที่ GM ถึงกับชิดซ้ายตกขอบกันไปหมดเลย ขอบอกว่าหมอเจี๊ยบมีเสน่ห์ดึงดูดเสียงกรี๊ดจากสาวๆ ที่นี่อย่างร้ายกาจ

ด้วยลุคที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง จากภาพของนางงามเมื่อวันวาน ทุกวันนี้ ถ้าคุณติดตามอินสตาแกรมของเธอประจำ ก็จะรู้ดีว่าเธอตัดผมสั้น แต่งตัวทะมัดทะแมง ผอมเพรียว ขายาว ดูราวกับนายแบบจากเวทีแฟชั่นระดับโลก

หมอเจี๊ยบบอกว่าเธอก็แค่เป็นตัวของตัวเอง เธอเป็นแบบนี้มาตลอดอยู่แล้ว

และที่แน่ๆ เธอพูดย้ำชัดกับเราอีกครั้ง อย่างที่เคยพูดกับอีกหลายๆ สื่อ ว่าเธอไม่ได้อยากให้เรียกว่าเป็นทอม ขณะที่เรื่องความรัก ก็เป็นอะไรที่เปิดกว้าง ในยุคสมัยที่เราไม่มีการปิดกั้นในเรื่องเพศและเพศสภาพกันอีกแล้ว

“รู้เลยว่าคุณจะต้องถาม” เจี๊ยบดักเราไว้ก่อนด้วยรอยยิ้ม

เราสังเกตว่าเวลาโพสท่าถ่ายรูป เธอมักจะมีรอยขมวดคิ้วเล็กน้อยอยู่เสมอ แต่เวลาพูดคุยกันนอกเฟรมกล้อง เธอยิ้มแย้มเฮฮา เป็นตัวของตัวเอง

“เพราะคนชอบถามว่าเป็นอะไรแน่ เจี๊ยบตอบไปเสมอว่าไม่รู้เหมือนกัน ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็ชอบความสวยความงามนะ แล้วก็ยังมีนมด้วย นี่ไม่ได้รัดนมนะ” (หัวเราะ) เจี๊ยบอธิบาย

เธอย้ำว่าไม่ได้เป็นทอม ไม่เคยอยากไปตัดนม แถมชอบที่ตัวเองมีนมเสียด้วยซ้ำ และเธอก็ไม่อยากพูดด้วยหางเสียงว่า ฮะ หรือ ครับ เธอชอบพูด คะ และ ค่ะ เพราะรู้สึกว่าสุภาพอ่อนโยนกว่า

เธอชอบแต่งตัวแบบผู้ชาย เพราะรู้สึกทะมัดทะแมง ถ้าวันไหนต้องใส่กระโปรงก็จะไม่ถนัด หรือถ้าต้องแต่งหน้าแล้วละก็ จะยิ่งแล้วใหญ่ เธอไม่ค่อยมั่นใจ รู้สึกหน้าตาเหมือนป้าๆ มากกว่า

“นี่ก็เป็นแบบตัวเจี๊ยบเองไงล่ะ”

แต่ถ้าถามว่าอยากเป็นผู้ชายมั้ย - GM ถามย้ำ

“ก็ไม่ ถ้าคนมาถามว่าสรุปเป็นอะไรกันแน่ ทำไมไม่บอกตรงๆ ว่าเป็นทอม อ้าว! ก็ไม่ใช่อ่ะ คือคนเราบางทีก็ไม่สามารถระบุได้หรือเปล่า ว่าถ้าแบบนี้คุณจะต้องเป็นทอม เป็นโน่น เป็นนี่”

GM เข้าใจคำตอบของเธอ เพราะในสังคมหัวโบราณแบบไทยๆ เรามักจะเป็นแบบนี้ คือเราชอบจัดแจงสิ่งต่างๆ ให้อยู่ในกรอบ ในระเบียบ แล้วกำหนดคำเรียกลงไปให้ชัดเจน ราวกับว่าเราต้องติดป้ายให้กับทุกคน ทุกสิ่ง เพื่อที่จะทำความเข้าใจ ทั้งที่ไม่รู้ตัวเลย ว่ายิ่งไปจำกัดกรอบไว้ ก็ยิ่งทำให้ความเข้าใจของเรานี้คับแคบ

เธอบอกว่าภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจากสมัยที่เป็นนางสาวไทยเมื่อหลายปีก่อน ไม่มีผลอะไรในการใช้ชีวิตประจำวันในทุกวันนี้ เพราะเธอเองเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก ตอนไปประกวดนั่นต่างหากล่ะ ที่เธอรู้สึกขัดๆ ไม่ค่อยเป็นตัวเอง

ทุกวันนี้เวลาไปทำงาน พบเจอคนไข้และเพื่อนร่วมงาน เธอรู้สึกมีความสุขที่ได้เป็นตัวของตัวเอง

“เพราะว่าเราได้เป็นตัวเรา ไม่ต้องคอยระวัง เมื่อก่อนจะมีงานเดินแบบ ต้องใส่ส้นสูง แต่เจี๊ยบก็ไม่ค่อยอยากรับงานเดินแบบ เพราะกลัวเดินได้ไม่ดี เดี๋ยวเดินน่าเกลียด งกๆ เงิ่นๆ ถ้าเลือกได้ ก็อยากรับงานที่เป็นสไตล์ตัวเองมากขึ้น รู้สึกมีความมั่นใจ และก็มีความสุขกับสิ่งที่เป็น สมัยก่อนก็ไม่ได้อึดอัด แค่รู้สึกว่ามันดูขัดๆ ผมยาว แล้วหน้าตาดูไม่เหมาะกับตัวเอง แต่ก็ทำได้ แต่พอเราสามารถเป็นตัวเองได้ก็ดีกว่า”

สำหรับมุมมองในเรื่องเพศและเพศสภาพ เธอบอกว่าไม่เคยให้มันมาเป็นประเด็นอะไรเหนือชีวิตตัวเองเลย และรู้สึกดีใจที่สังคมบ้านเราในทุกวันนี้กำลังค่อยๆ เปิดกว้างมากขึ้น

“เราเองทุกคนเลยนะ ไม่เห็นจำเป็นต้องไปจำกัดความกันและกันเลย การไปคอยมองว่าใครเป็นอะไร ควรมองที่ตัวตนเขามากกว่า ว่าเขาเป็นคนดี เขาไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร เขาก็เป็นคนที่ประเสริฐดีแล้วแหละ การไปมองว่าคนนี้เป็นตุ๊ด เป็นเกย์ เป็นทอม ไปจำกัดเขาทำไม ถ้าเขาดูแลครอบครัว ไม่เคยทำความเดือดร้อนให้ใคร เขาก็เป็นคนที่ดีคนหนึ่งเลย แค่เขาเป็นตัวของตัวเอง จะเป็นอะไรไปล่ะ มันคือความสุขของเขา ชีวิตเขา”

เธอบอกเราว่า คนเราทุกคนควรเห็นคุณค่าของความเป็นคน ไม่ใช่การระบุว่าเพศชายเพศหญิง ทุกคนก็เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง…เท่านั้นเอง


ความฝันและอุดมการณ์

ปัจจุบัน เจี๊ยบเป็นแพทย์ประจำบ้าน ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีมาประมาณหนึ่งปี

เส้นทางเดินชีวิตของหมอเจี๊ยบ ตั้งแต่เลือกเรียนหมอ ก้าวไปประกวดนางสาวไทย จนมาเรียนต่อเป็นแพทย์ฉุกเฉินอย่างทุกวันนี้ ล้วนขับเคลื่อนมาด้วยความฝันที่มีมาตั้งแต่เด็ก

เธอฝันว่าอยากจะเปิดฟรีคลินิก ให้บริการรักษาผู้คนทั่วไป

เรื่องของเรื่องคือ เธอเคยเป็นเด็กที่ไม่เคยสนใจการเรียนและรักสบาย จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต คือช่วงวัยที่จะต้องเอนทรานซ์ เธอไปฝึกงานในโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่ง และรู้สึกสะเทือนใจกับภาพต่างๆ ที่เห็น

“คนเจ็บแผล เด็กร้องไห้ สีหน้าเป็นทุกข์กังวลของคนไข้นับร้อย ที่ไม่ว่าเขาจะกำลังเจ็บป่วยแค่ไหน แต่ก็ต้องนั่งรอหมออยู่ตรงนั้น”

เธอเกิดความรู้สึกอย่างรุนแรง ว่าอยากช่วยอะไรให้คนเหล่านี้หายจากความทุกข์ความเจ็บปวด ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที

นับแต่วันนั้นเลยเกิดความคิดอยากเป็นหมอ และต้องเปิดฟรีคลินิกให้ได้

เธอสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นก้าวแรกของการเดินตามความฝัน และก้าวต่อมาก็คือเข้าประกวดนางสาวไทยตามคำชวนของแม่

การได้รับตำแหน่งนางสาวไทยประจำปี 2549 คือสิ่งที่เกินความฝันไปไกลมาก แต่อย่างน้อยที่สุด นั่นก็ช่วยทำให้ผู้คนรู้จักเธอมากขึ้น และเธอก็ได้สื่อสารความคิดเรื่องฟรีคลินิกของเธอออกไป ซึ่งน่าจะได้รับความช่วยเหลือและทำความฝันได้ง่ายขึ้น

ก้าวปัจจุบันกับความฝันของเธอ ก็คือการเรียนหมอฉุกเฉิน เพื่อที่จะได้รักษาคนไข้ได้ในหลายๆ รูปแบบ และตอบโจทย์กับการทำฟรีคลินิก โดยต้องเรียน 3 ปี นี่ยังเหลืออีกปีกว่าๆ ก็จะจบแล้ว

นับเป็นความฝันที่มั่นคงยาวนานจริงๆ แม้จะไปเจออย่างอื่นในชีวิตมากมาย เธอยอมรับว่าเคยมีท้อ ท้อเพราะว่าเหนื่อย หนัก แต่ก็แค่ท้อ เธอไม่เคยถอย เธอก็เลยยังอยู่กับความฝันนี้

“มันเป็นความฝันเราน่ะ เป็นสิ่งที่เราอยากทำ เจี๊ยบเชื่อว่าถ้าคนเรามีความฝัน ถ้ามีความพยายาม มีความตั้งใจจริง ก็คงไม่มีใครทิ้งความฝันของตัวเอง เจี๊ยบเป็นคนที่ถ้าพูดอะไรแล้วก็อยากจะทำให้ได้ ไม่ใช่แค่พูดเฉยๆ ซึ่งจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ก็อยู่ที่อนาคต การมาเรียนต่อทำให้เรามีความมั่นใจ และรักษาคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น ก็หวังว่าถ้าจบไปคงจะได้ทำฟรีคลินิกอย่างที่ตั้งใจ และหวังว่าทุกคนคงจะยังไม่ลืมเรื่องนี้ แล้วก็ให้ความช่วยเหลือเจี๊ยบ เพราะเจี๊ยบไม่สามารถทำได้คนเดียวอยู่แล้ว”

การไปมองว่าคนนี้
เป็นตุ๊ด เป็นเกย์ เป็นทอม
ไปจำกัดเขาทำไม
ถ้าเขาดูแลครอบครัว
ไม่เคยทำความเดือดร้อนให้ใคร
เขาก็เป็นคนที่ดีคนหนึ่ง
แค่เขาเป็นตัวของตัวเอง
จะเป็นอะไรไปล่ะ
มันคือความสุขของเขา ชีวิตเขา


ชีวิตที่ฉันเรียนรู้

แพทย์ฉุกเฉินคือแพทย์ที่ประจำอยู่ในห้องฉุกเฉิน คนไข้ที่อยู่ในภาวะทุกอย่างจะถูกส่งมายังห้องฉุกเฉินเป็นด่านแรก ก่อนจะส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง เช่น เคสถูกยิงมา แพทย์ฉุกเฉินก็จะต้องช่วยให้คนไข้ไม่เสียชีวิต ห้ามเลือด ให้น้ำเกลือ ให้เลือดทดแทน แล้วติดต่อหมอศัลยกรรมให้คนไข้ไปผ่าตัด หรือถ้าเป็นเคสไม่หนักมากก็อาจจะรักษาเองได้

“เจี๊ยบอยากรักษาคนได้ในหลายๆ รูปแบบ คือได้ทำงานอยู่ในห้องฉุกเฉิน เราเจอได้ทุกเคสเลย เคสคลอดก็ได้ เคสอายุรกรรมก็ได้ หัวใจวาย ยิงกันมา หรือแค่ก้างปลาติดคอ” (หัวเราะ)

การเรียนในทุกวันนี้ คือการฝึกฝนเพื่อรับมือกับความเจ็บป่วยทุกรูปแบบ หมอเจี๊ยบบอกว่าเป็นอะไรที่ท้าทายดี แล้วก็ไม่จำเจ ไม่มีอะไรซ้ำ เปลี่ยนไปทุกๆ วัน บางวันเธอต้องออกไปกับรถฉุกเฉินด้วย อันนั้นยิ่งท้าทาย เพราะไม่รู้เลยว่าจะไปเจอกับอะไร

“บางทีแจ้งมาว่าคนไข้ไม่รู้สึกตัว แต่พอไปถึงจริงๆ คือคนไข้ตายแล้ว ก็ต้องพร้อมรับมือทุกสถานการณ์” เธอเล่าด้วยสีหน้าเคร่งเครียดขึ้น

หมอเจี๊ยบบอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือสติกับความตั้งใจที่อยากจะรักษาคนไข้ให้ดีที่สุด เพราะต้องใช้ภาวะการตัดสินใจเยอะ แข่งกับเวลาที่จำกัด และสถานการณ์ที่กดดันหลายอย่าง

“เราอาจจะมีความคิดกังวลบ้าง ว่าจะเจออะไร ทำยังไงต่อไป แต่จะไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่แล้ว ในสถานการณ์ที่คับขันนั้นเราต้องตัดสินใจ ไม่ใช่เหมือนเปิดหนังสือมาแล้วจะทำได้ ต่อให้เปิดหนังสือมารู้ว่าโรคนี้ แต่ทุกอย่างต้องใช้การตัดสินใจ จะเลือกแนวทางไหน เป็นสิ่งที่ยากที่สุด ไม่มีอะไรตายตัว การรักษาคนส่วนหนึ่งเป็นประสบการณ์และเป็นศิลปะ ไม่ใช่ 1+1 เป็น 2 นี่เลยทำให้เจี๊ยบต้องมาเรียนต่อ”

ตอนนี้เธออยู่ในระบบเทรนนิ่ง มีอาจารย์ให้ปรึกษา ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรแต่ละอย่าง ถ้าไม่มั่นใจสามารถปรึกษาก่อนได้ เลยเป็นช่วงที่เธอตักตวงโอกาสไว้ เมื่อออกไปข้างนอกต้องตัดสินใจเองจะได้ไม่พลาด

“สมัยก่อนคนอาจจะมองว่าหมอคือหมอ แต่เดี๋ยวนี้เขาคิดว่าเราเป็นผู้ให้บริการ เจี๊ยบว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการสื่อสาร ถ้าเราสื่อสารกันเข้าใจ ก็ลดความเข้าใจผิดกันได้มากขึ้น มันก็เป็นความเสี่ยงหนึ่ง เพราะว่าร่างกายคนไม่เหมือนเครื่องจักร ไม่ใช่บอกว่าเดี๋ยวหมอใส่นอตตัวนี้ไปแล้วเครื่องจักรคุณจะเดินได้ ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ควรจะทำ แต่สมมุติร่างกายคนนี้ดันแพ้ยาขึ้นมาโดยไม่มีใครบอกได้ เขาก็อาจจะเป็นอะไรขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นบางทีหมอที่เขาตั้งใจทำดีที่สุดแล้ว แต่อาจจะไม่สามารถรักษาคุณกลับมาได้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ตั้งใจหรือไม่ใส่ใจ แต่เพราะมันเป็นร่างกายมนุษย์ ไม่ใช่เครื่องจักรที่ขันนอตปุ๊บหาย”

จากตอนแรกที่กะจะเข้ามาเรียนเพื่อให้รักษาคนได้ดีขึ้น เก่งขึ้น แต่สิ่งที่เธอไม่ได้คิดไว้ก่อนเลยก็คือ การเรียนแพทย์ฉุกเฉินจะเปลี่ยนตัวเธอไปตลอดกาล

“แต่ก่อนไม่เคยคิดว่าเราจะตาย ถึงแม้เรียนมาเป็นหมอ 6 ปี ก็เห็นคนตายบ่อยนะ แต่พอมาห้องฉุกเฉิน เจี๊ยบเจอบ่อยมากขึ้น บางทีเขาเด็กกว่าเรา ก็ตายได้ หรือคนนี้เพิ่งคุยกับเราสองคำ อยู่ดีๆ หัวใจหยุดเต้น มันทำให้เห็นความไม่แน่นอนของชีวิต ก็เลยทำให้กลับมาคิดว่า เกิดมาเป็นคนทั้งที เราควรจะใช้ชีวิตให้คุ้มค่านะ เพราะพรุ่งนี้เราอาจจะตายก็ได้ มันไม่มีอะไรแน่นอนเลยชีวิตคน”

การทำงานหนักๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย ทำให้คุณหมอสาวจิตตกอยู่พักหนึ่งเลยว่า

“เดี๋ยวก็ต้องพลัดพรากจากคนที่เรารัก หรือสักวันเราก็ต้องตาย จะทำยังไงดี สุดท้ายก็ได้คำตอบว่า ทำอะไรไม่ได้ นี่คือความจริงของโลกมนุษย์ ทุกคนต้องตาย ทุกคนต้องสูญเสีย”

หมอเจี๊ยบบอกกับเราว่ามีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่เราทำได้

“คือทำวันนี้ให้ดีที่สุด” เธอจริงจังและเน้นย้ำกับคำพูด

“ถึงแม้จะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เราอาจจะเสียใจ แต่เราจะไม่เสียดาย” เธอกล่าวต่อ

เธออธิบายโดยยกตัวอย่างให้ฟัง ว่าเมื่อก่อนสมัยที่บ้างานสุดๆ พอแม่โทรศัพท์มาหา เธอจะบอกว่า “แม่เดี๋ยวก่อน ทำงานอยู่”

แต่ตอนนี้ เธอเปลี่ยนแปลงไปมาก เธอเติบโตขึ้น และเข้าใจชีวิตมากขึ้น จากการทำงานเป็นหมอมานานหลายปี

“โอเคแม่ เจี๊ยบรักแม่นะ เดี๋ยวโทรฯ กลับนะคะ” เธอพูดด้วยรอยยิ้ม

ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ถึงแม้จะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เราอาจจะเสียใจ แต่เราจะไม่เสียดาย…เราจำประโยคนี้ของเธอได้แม่นที่สุด

ให้สิ่งที่เธอทำเหล่านี้ และความคิดอ่านที่น่าใคร่ครวญ ช่วยนิยามรูปแบบชีวิตมีคุณค่าของเธอเองจะดีกว่า

นี่คือชีวิตของเธอ คุณหมอสาวหล่อที่มอบความรักให้กับคนไข้ การงาน ครอบครัว อุดมการณ์ และความเป็นตัวของตัวเอง

When She Talks About Love

เจี๊ยบ ลลนา ก้องธรนินทร์ ได้ตกหล่นถ้อยคำแห่งความรักเอาไว้ตามสื่อต่างๆ เราลองประมวลมาจากรายการทีวีชั้นนำ อย่าง วู้ดดี้เกิดมาคุย, Food in Love, Club Friday Show รวมถึงบนหน้านิตยสารแนวกอสซิปดาราทั้งหลาย พอจะรับรู้ได้เลยว่ามุมมองเรื่องความรักของเธอน่าสนใจ หนักแน่น เปิดกว้าง และก้าวหน้ากว่าใครๆ ในสังคมที่อนุรักษนิยมมากๆ อย่างตอนนี้

ความรักนำไปสู่เพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเพศไหน คนเราถ้ารักกัน เรื่องพวกนั้นคงเป็นของมันไปเองตามธรรมชาติโดยที่เราไม่ต้องฝืน แต่สำหรับบางคนถ้ารักกัน บางทีมันก็มากกว่าเรื่องพวกนั้นด้วยซ้ำ

ตอนเด็กๆ

เธอเคยมีสเปค แต่พอโตขึ้นมาไม่มี บอกได้แค่ว่าไม่ได้ชอบหนุ่มหล่อ เท่ แต่สาวสวยน่ารักก็ถือว่าเป็นสเปคหนึ่ง

คนที่เธอจะตกหลุมรัก ขอแค่เป็นคนดี

มีเสน่ห์ในสิ่งที่เขาเป็น ไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟ็กต์ รวย จะอ้วนผอมยังไง ถ้าเขามีสิ่งพิเศษในตัว อะไรก็ตาม ถ้าเป็นสิ่งที่ดี เธอจะรู้สึกว่าคนคนนั้นเท่จัง เช่น ทำอาหารเก่ง พูดเก่ง หรือทำให้คนหัวเราะได้ เธอจะตกหลุมรักคนที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ซึ่งเชื่อว่าทุกคนต้องมีเสน่ห์ในตัวเอง

เรื่องความรักเธอไม่ได้ปิดกั้นใคร จะผู้ชาย ผู้หญิง เกย์ หรือใครก็ตาม ที่เข้ามาแล้วเธอรู้สึกถูกใจ อยู่ด้วยแล้วแฮปปี้ก็โอเค เธอไม่ได้มองว่าเป็นเพศอะไร ต้องมองหาแต่ผู้ชายนะ หรือฉันต้องมองหาแต่ผู้หญิง คนนี้เข้ามาฉันปิด เธอแค่รู้สึกว่ารักที่เป็นคนคนนั้น กับผู้ชายเธอเคยคุย แต่เท่าที่เจอมา กับผู้หญิงจะรู้สึกคลิกกว่า

ก่อนมีความรัก เธอรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนง่ายๆ สบายๆ ใครได้เป็นแฟนคงดี เพราะดูจากที่เธอคบกับเพื่อนๆ เป็นคนไม่เรื่องมาก ไม่คิดเยอะ แต่เวลามีแฟนถึงรู้ว่าตัวเองเป็นคนคิดเยอะมาก ขี้น้อยใจ จุกจิก ชอบการเอาอกเอาใจ เป็นคนใส่ใจรายละเอียด ชอบเซอร์ไพรส์ ปกติเธอเป็นคนทำบุญไม่หวังผล แต่พอกับแฟนทำแล้วหวังผล ถ้าอุตส่าห์ทำสิ่งนี้ให้แล้วเขาเฉยๆ มีงอน เธองงตัวเองเหมือนกัน นิสัยผู้หญิงมาก จากที่คิดว่าตัวเองเป็นแบบแมนๆ ง่ายๆ อยู่ๆ ก็ยากขึ้นมาเวลามีแฟน

เคยมีผู้ชายมาจีบเธอ

แต่นานมากแล้ว เปิดใจไปกินข้าว ดูหนังกัน แต่ไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะตอนนั้นยังเด็ก และเป็นเพื่อนมากกว่า ส่วนผู้หญิง คนจะชอบคิดว่ามีผู้หญิงเข้ามาจีบเยอะ แต่เธอบอกว่าไม่เคยมีผู้หญิงมาจีบเลยจนทุกวันนี้ คงเพราะวันๆ ไม่ได้เจอใคร

ในตอนนี้

แฟนคลับของเจี๊ยบ พยายามจิ้นให้เธอคู่กับนักแสดงสาวไฮโซ พอลลี่ พรพรรณ ซึ่งเธอมักยืนยันว่า เป็นเพื่อนที่สนิทและไว้ใจ มีอะไรก็ปรึกษากัน ส่วนโอกาสพัฒนาความสัมพันธ์นั้นต้องดูกันไปในอนาคต ig : @jeab_lalana

เคสในความทรงจำ

ในฐานะหมอฉุกเฉิน เคสโหดๆ ยากๆ ท้าทายๆ เธอบอกว่าถ้าเป็นพวกนั้นคงมีเยอะจนไม่รู้จะยังไงแล้ว คล้ายๆ กันหมด เพราะทุกเคสก็สามารถถึงชีวิต เธอเลยยกตัวอย่างความประทับใจตอนที่เป็นนักศึกษาแพทย์แทน

“เจี๊ยบเจอคนไข้ที่ไม่ใช่คนไข้เจี๊ยบด้วยซ้ำ แต่เขาเจอเจี๊ยบแล้วเขาทักทาย รู้สึกว่าเขาเป็นคนไข้ที่น่ารักมาก เขาสู้ชีวิต เขาเป็นมะเร็งแต่ก็ยังยิ้มสู้ปัญหาที่เจอตรงหน้าได้ เขาเจ็บทางกาย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพรุ่งนี้จะมีชีวิตอยู่มั้ย แต่เขายังยิ้มและยังสู้ได้ ก็เลยอยากจะให้ทุกคนที่กำลังเจอเรื่องร้ายๆ อยู่ อย่าท้อกับชีวิตในวันนี้”

แพทย์ประจำบ้าน

แพทย์ประจำบ้าน เป็นลำดับขั้นหนึ่งของการศึกษาหลังปริญญาของแพทย-ศาสตรศึกษา เป็นผู้ที่ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตแล้วและกำลังปฏิบัติงานด้านการแพทย์เฉพาะทาง เช่น วิสัญญีวิทยา อายุรศาสตร์ สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา กุมารเวชศาสตร์ ศัลยศาสตร์ เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยภายใต้การควบคุมและรับผิดชอบของอาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาล คำว่า แพทย์ประจำบ้าน แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า resident มาจากการที่แพทย์ประจำบ้านโดยทั่วไปต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายในโรงพยาบาลเพื่อปฏิบัติงาน ซึ่งมีสำนวนภาษาอังกฤษว่า in house (ข้อมูลจาก Wikipedia)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook