ทารกหัวแบน โตขึ้นมาจะมีโอกาสหัวสวยไหม?

ทารกหัวแบน โตขึ้นมาจะมีโอกาสหัวสวยไหม?

ทารกหัวแบน โตขึ้นมาจะมีโอกาสหัวสวยไหม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
คุณแม่ของน้องจูนและน้องบอย


Q2 : เห็นลูกของเพื่อนๆ ที่คลอดออกมาหัวสวยเชียว ไอ้เราแอบเสียดายที่ลูกเราตอนเกิดมาให้นอนหงาย กว่าจะจับตะแคงก็ปาไป 3 เดือน ซื้อหมอนหัวทุยมาแต่ก็เหมือนไม่ช่วยอะไรมาก อยากทราบว่าทารกหัวแบนโตขึ้นมาจะมีโอกาสหัวสวยขึ้นไหมคะ? และหัวทุยนี่มีผลต่อพัฒนาการไหมคะ

เป็นเรื่องปกติค่ะที่ทารกแรกเกิดบางคนจะมีรูปทรงของศีรษะไม่ทุยสวย เนื่องจากกะโหลกศีรษะยังไม่แข็งจากการยืดหยุ่นขณะเคลื่อนที่ผ่านทางช่องคลอด แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ ในช่วง 2 ปีแรกกะโหลกจะขยายขนาดรองรับสมองที่โตเร็วมากซึ่งอาจจะทำให้ดูผิดรูปได้ง่ายจาก 2 สาเหตุ เช่น เด็กอยู่ในครรภ์นานเกินไป อยู่เบียดกับแฝด หรือคุณแม่มีปัญหาน้ำคร่ำน้อย หรือศีรษะถูกกดรัดขณะคลอดทางช่องคลอดแคบๆ แต่เรื่องของศีรษะผิดรูปที่คุณแม่ควรกังวลและรีบแก้ไขโดยเร็วมีดังนี้



1. ภาวะรอยต่อของกะโหลกศีรษะเชื่อมปิดเร็วกว่าปกติ (craniosynostosis)
ความพิการแบบนี้ทำให้กะโหลกศีรษะและใบหน้าไม่สามารถเจริญเติบโตหรือขยายออกได้ จึงมีลักษณะผิดรูปผิดร่าง ผู้ป่วยจะมีลักษณะความผิดปกติของใบหน้าคือ กะโหลกศีรษะเล็กกว่าปกติ ตาโปน ส่วนกลางของใบหน้าไม่เจริญ การสบของฟันผิดปกติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ปัญญาอ่อน ตาปิดไม่ลงทำให้ตาอักเสบและบอดได้ หายใจลำบาก เคี้ยวอาหารลำบาก และเป็นโรคขาดอาหาร เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้การรักษาคือการผ่าตัดแก้ไข

2. ภาวะคอเอียงเนื่องจากกล้ามเนื้อข้างคอหดสั้นลง
อาจเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือจากการคลอดที่มีการยืดของกล้ามเนื้อข้างคอทำให้มีเลือดออกแล้วซ่อมแซมเป็นพังผืดยึดรั้งกล้ามเนื้อมัดนี้เมื่อคอเอียงอยู่นานจะทำให้รูปทรงของศีรษะผิดรูปการรักษาคือการทำกายภาพบำบัดยืดกล้ามเนื้อและการฝึกให้ลูกหันศีรษะไปฝั่งตรงข้ามโดยการจัดท่าให้นมการจัดท่านอน หรือหาของเล่นล่อหลอกให้มองตามส่วนน้อยอาจต้องผ่าตัดคลายกล้ามเนื้อที่ยึดรั้ง

การที่ศีรษะแบน ไม่ทุยสวย ไม่ได้มีผลต่อพัฒนาการทางสมองแต่มีผลต่อความสวยงามของใบหน้า ทำให้ใบหน้า 2 ข้างไม่สมดุลกัน ในกรณีที่เป็นไม่มากจะดีขึ้นเองเมื่อลูกโตขึ้น การป้องกันคือจัดให้ลูกนอนหงายหันหน้าไปด้านข้างสลับซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ตะแคงซ้ายบ้าง ขวาบ้าง วางที่นั่ง ที่นอนของลูกเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ

ส่วนการนอนหมอนหลุมนอกจากไม่ได้ช่วยป้องกันศีรษะแบนแล้ว อาจทำให้เป็นมากขึ้นเนื่องจากหลุมจะทำให้ศีรษะลูกอยู่ในท่านั้นนานเกินไป ควรเลือกหมอนที่เหมาะสม ไม่หนาเกินไป เพราะอาจคอเคล็ดได้เวลาดิ้นตกหมอน ควรเป็นหมอนที่ไม่เก็บฝุ่นหรือไรฝุ่นหรือควรใช้ผ้ากันไรฝุ่นหุ้มเพื่อลดปัญหาโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจดีกว่าค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook