“วัลลี 2” สาวน้อยเลี้ยงยายตาบอดและน้อง ทุกวันนี้เธอเป็นแบบนี้

“วัลลี 2” สาวน้อยเลี้ยงยายตาบอดและน้อง ทุกวันนี้เธอเป็นแบบนี้

“วัลลี 2” สาวน้อยเลี้ยงยายตาบอดและน้อง ทุกวันนี้เธอเป็นแบบนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ในปีนั้นหากใครจำกันได้เรื่องราวของเด็กหญิง พรพรรษา รอดพลอย (ตุ๊กตา) ที่ต้องลำบากตรากตรำอยู่ลำพังกับน้องชายและยายตาบอด ต้องคอยหาอาหารและออกไปรับจ้างขุดมันเพียงเพื่อหาเศษเงินมาจุนเจือ

ครอบครัวเด็กหญิงตุ๊กตาขณะนั้นเธอเรียนอยู่โรงเรียนในสังกัด สปจ. ชัยภูมิ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ประสบปัญหาขาดแคลนและยากจนทั้งในด้านบุคลากร อุปกรณ์การเรียนการสอน ฐานะและสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวนักเรียน
นายสมศักดิ์ บุญสุภา อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านสะพานยาว หมู่ 5 ตำบลโป่งนก อ.เทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ได้เปิดเผยว่า เนื่องจากโรงเรียนที่ไกลปืนเที่ยง ความขาดแคลนจึงมีเปอร์เซ็นต์สูง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเรียน และรวมไปถึงนักเรียนที่มีฐานะยากจนก็มีจำนวนไม่น้อยครูและอาจารย์ทั้งหลายจึงพากันซื้อและสร้างขึ้นมาเอง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก อันเป็นมูลเหตุให้พื้นฐานการศึกษาไม่ได้มาตรฐานในคุณภาพที่วางไว้ แต่ก็มีนักเรียนอยู่ 1 คนที่ได้ฟันฝ่าอุปสรรคนี้ออกไป แม้ว่าฐานะจะยากจน แต่ในการเรียนนั้นทำคะแนนได้ดี จนได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนเข้าแข่งขันคณิตศาสตร์ระดับจังหวัด และคว้ารางวัลที่ 1 มาอย่างภาคภูมิใจ เธอก็คือ เด็กหญิงพรพรรษา รอดพลอย ที่เรากำลังนั่งพูดคุยกับเธออยู่ขณะนี้

เล่าถึงเหตุการณ์แสนลำบากในตอนนั้นให้ฟังหน่อย
ค่ะ ย้อนกลับไปวันนั้นก็ผ่านมา 23 ปีแล้ว เรื่องอาจจะนานแต่ก็อยากแชร์ให้คนอื่นๆ ที่กำลังท้อนะคะ คือฉันเป็นลูกคนโต มีน้องชายอีก 1 คนซึ่งห่างกับฉัน 3 ปี และในตอนที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาทำข่าวตอนนั้นฉันอายุ 13 ปีค่ะ แต่ความลำบากมันเริ่มมาก่อนหน้านั้นหลายปีแล้ว  ฉันอยู่ในหมู่บ้านไทรงาม ห่างจากโรงเรียนบ้านสะพานยาวที่ฉันเรียนประมาณ 3 กิโลเมตร ถนนตอนนั้นเป็นดินลูกรังสองข้างทางเป็นป่า เป็นเนินเขาสูง ต้องเดินเท้าไป-กลับทุกวัน  ส่วนบ้านที่อาศัยอยู่ต้องเรียกว่ากระท่อมมากกว่า มีชาวบ้านช่วยกันนำไม้ปลีกและหญ้ามาสร้างให้ถึงเวลาหน้าฝนลำบากกันมาก น้ำรั่วลงมาแทบจะไม่ได้นอน มีฝาหม้อกี่อันก็เอามาเสียบปิดรูรั่ว หม้อ ถ้วย ชาม เอามารองน้ำ ประตูก็เป็นสังกะสีเก่าๆ กลอนไม่มีต้องใช้เชือกมัดเอาค่ะ และเมื่อกลับมาจากโรงเรียนก็ต้องรีบหุงข้าวโดยก่อเตาถ่านบ้าง ไม้ฝืนบ้าง ตามแต่จะหาได้ เพื่อทำอาหารให้ยายตาบอดวัย 70 กว่า และน้องชายกิน

บางวันก็กินข้าวกับน้ำปลา เพราะตอนนั้นทำกับข้าวไม่เป็น ถ้าหาเงินมาได้จากการรับจ้างเก็บพริก ปลูกมัน ก็นำไปซื้อก๋วยเตี๋ยวมากินกับข้าวกันสามคนยายหลาน โดยขอกระดูกหมูเค้ามานั่นคือกับข้าวหลักของครอบครัวค่ะ ฉันได้เงินไปโรงเรียนวันละ 1 บาทโชคดีก็ได้ 2 บาท แม้จะอยากกินขนมเหมือนเพื่อนคนอื่นแต่ฉันต้องอดทนเพราะทุกเย็นต้องนำเงินค่าขนมมาซื้อผัดหมี่หน้าโรงเรียนกลับมาเป็นกับข้าวมื้อเย็นให้ยายกับน้องค่ะ ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ฉันไม่ค่อยได้ออกไปเที่ยวเล่นเหมือนเด็กคนอื่นๆ ถ้าไม่มีคนมาจ้างไปทำอะไร

ฉันกับน้องก็จะแบกถุงปุ๋ยไปขุดหัวมันที่ชาวบ้านขุดไปไม่หมด นำเศษเล็กเศษน้อยมาสับๆ เอาไปตากแห้ง จากนั้นก็เอาไปขายที่ร้านค้าได้เงิน 20 – 30 บาท ไว้มาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งเงินที่ได้มาจะให้ยายเป็นคนเก็บไว้ค่ะ บางวันก็ออกไปเผ่าถ่านในป่ามาไว้ใช้หุงต้ม หน้าหน่อไม้ หน้าเห็ด หน้าผักหวานก็ต้องไปหากับคนในหมู่บ้านต้องเดินข้ามภูเขาข้ามน้ำหญ้าสูงท่วมหัว ฉันยังเด็ก เหนื่อยใจแทบขาดขาแทบไม่มีแรงก้าว แต่ทำยังไงได้ล่ะคะ ถ้าไม่ไปก็ไม่ได้กิน กลางคืนน้องชายก็ออกไปกับพวกผู้ใหญ่หากบหาเขียดมาให้พี่สาวทำกับข้าว (พอมาถึงตรงนี้เงียบไปพักหนึ่ง)

พอเล่าถึงเรื่องนี้ทำให้นึกถึงกบเขียดคะ คือฉันยังเล็กเลยทำกับข้าวไม่เป็นน้องเอากบเขียดตัวเล็กๆ มาให้ ฉันก็วิ่งไปซื้อพริกแกงที่ร้านค้า กลับมาตั้งหม้อต้มน้ำเดือดๆ ใส่พริกแกง แล้วก็เอาลูกกบลูกเขียดที่ยังมีชีวิตไปล้าง แล้วก็จับโยนลงหม้อทั้งแบบนั้นใส่น้ำปลาน้ำตาลเท่าที่จะคิดได้ในตอนนั้น สรุปคือยายต้องกินข้าวคลุกน้ำปลา น้องชายวิ่งไปกินข้าวบ้านเพื่อน  ไม่มีใครกินมันได้รวมทั้งฉันด้วย (น้ำตาคลอ) อาหารมื้อที่ดีที่สุดสำหรับเราสามคนคือข้าววัด มียายใจดีตรงข้ามบ้านจะเอามาฝากทุกวันพระ พอกลับจากโรงเรียนภาพที่เห็นคือ ยายจะนั่งเอาผ้าขนหนูค่อยพัดกับข้าวไว้รอหลานๆ แม้ยายจะตาบอดแต่หูดีมากค่ะ จำเสียงเดินของหลานได้จะรีบเรียกฉันกับน้องให้มากินข้าว และยังได้อาหารจากเพื่อนบ้านที่มีน้ำใจนำมาให้บ้างได้อิ่มท้อง และรอดมาได้จนทุกวันนี้คะ

แล้วพ่อแม่ไปไหน
ตั้งแต่จำความได้ก็รับรู้ถึงปัญหาพ่อแม่ทะเลาะกันแล้วค่ะ  ทุกวันต้องเห็นภาพที่พ่อแม่ตีกัน (โดนลูกหลงบ้างเพราะเข้าไปห้าม) จนอายุประมาณ 7 ขวบ แม่ก็เลยตัดสินใจเด็ดขาดหนีจากพ่อมา จากวันนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อจากพ่ออีกเลย พอเกิดเหตุการณ์นี้จึงทำให้แม่ต้องเอาฉันกับน้องไปฝากไว้กับพี่ชายแม่ มันเป็นจุดที่ทำให้ฉันนอกจากจะต้องเลี้ยงน้องแล้วต้องรับหน้าที่เลี้ยงยายด้วย เพราะพี่ชายแม่ไม่เคยมาดูดำดูดีพวกเราเลย ปล่อยเราสามคนอยู่ตามลำพัง ส่วนแม่ไม่ได้มีความรู้อะไรก็ต้องออกไปทำงานรับจ้างอยู่ที่อื่น ซึ่งเป็นเวลานานมากที่ฉันไม่ได้รับการติดต่อจากแม่ แต่ก็รับรู้ได้ว่าแม่ก็คงต้องดิ้นรน และยากลำบากเหมือนกัน หลังจากที่ต้องผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ มา จากวันที่แม่ก้าวออกไป ฉันก็รับหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ฉันยังแปลกใจตัวเองเลยว่า ทำไปได้ยังไงทั้งๆ ที่เด็กมาก หลังจากที่แม่ติดต่อมาในแต่ละเดือนก็จะได้รับเงินจากแม่บ้างแต่ก็ไม่ได้เยอะอะไร เพราะยายแก่มากแล้วมีโรคประจำตัว ไม่ได้รับการรักษานอกจากฝากรถสองแถวในหมู่บ้านไปซื้อยาในตัวอำเภอมากินตามมีตามเกิดค่ะ

ภาระอันหนักอึ้งสำหรับเด็กผู้หญิงวัย 7 ขวบ คุณผ่านมันไปได้อย่างไร
ในวัยนั้นบอกเลยว่ายังคิดไม่ออกค่ะ แค่ทำทุกอย่างให้เต็มกำลังเท่าที่จะทำได้ในตอนนั้น ชีวิตของฉันมีกันแค่ 3 คน คิดแค่เพียงว่าจะ ทำยังไงให้เรามีข้าวกิน มีชีวิตรอดไปในแต่ละวัน กำลังใจที่ได้ก็จะมาจากยายและน้องชาย (ซึ่งเรามีให้กันมาจนถึงทุกวันนี้) ตอนนั้นคนที่ฉันคุยด้วยมากที่สุดก็คือน้องชาย แต่ก็เหมือนพูดออกไปฝ่ายเดียวเพราะน้องตอนนั้นเด็กมากๆ ยังไม่มีความคิดอะไร เค้าก็เที่ยวเล่นยิ่งนกตกปลาตามประสาเด็กผู้ชาย แต่สิ่งที่รับรู้มากที่สุดคือ คำสอนของยาย “ยายสอนฉันกับน้องให้เป็นคนดี สอนโดยการเล่านิทานที่สอดแทรกคุณธรรมให้ฟัง ทำดีก็ย่อมได้ดี ให้รู้จักบุญคุณคนและพ่อแม่” ฉันกับน้องเลยถูกปลูกฝั่งมาตั้งแต่เด็ก ยิ่งน้องชายฉันถ้าเค้าเห็นคนแก่ คนลำบาก เค้าจะรีบเข้าไปช่วยเหลือตามกำลังโดยไม่หวังอะไรเลย

 

มีหลายครั้งที่คิดถึงแม่มาก และบ่อยครั้งที่ฉันพาน้องออกมานั่งรอแม่ที่ศาลาท้ายหมูบ้านหวังว่าแม่จะกลับมาหาพวกเรา ตกเย็นได้ยินเสียงนกบินกลับรัง ตะวันกำลังตกดิน อากาศเริ่มเย็นลงมันทำให้ฉันรู้สึกเหงามาก (น้ำตาคลอ) น้องก็ถามฉันด้วยความเดียงสาว่า “ไม่เห็นแม่มาเลยพี่” เราก็ได้แต่ปลอบใจน้องว่าเดี๋ยวแม่ก็มาไม่นานหรอกนะ นี่เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้ฉันไม่ชอบเวลาพระอาทิตย์ตกดินไง มันทำให้ฉันรู้สึกเหงาจับใจเลยค่ะ  เราอยู่กันมาแบบนี้อยู่หลายปี แต่มันก็ผ่านไปได้ หากถามว่ารู้สึกอะไรไหม ที่ไม่มีเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ที่เค้ามีพ่อแม่คอยดูแล บอกเลยว่ารู้สึก น้อยใจมาก และเหงามาก บางคืนก็นอนร้องไห้ แต่พอตื่นมามันมีภาระหน้าที่ที่เราต้องทำรออยู่อย่าง ต้องหาอาหารให้ยายกับน้อง เก็บกระโถนอุจาระยาย เก็บกวาดบ้าน (กระท่อม) ตักน้ำใส่ตุ่ม ดูแลน้อง มันเลยทำให้ฉันต้องสู้เพื่อพวกเค้าค่ะ


และชีวิตก็มาเปลี่ยนผัน เมื่อถึงวันที่ยายต้องจากฉันไป
คือตอนนั้นเมื่อจบป. 6 ทางคุณครูอยากให้ฉันเข้าไปเรียนต่อในตัวจังหวัด ซึ่งฉันก็อยากไป แม่เลยกลับมาอยู่ด้วยเพื่อช่วยดูแลยาย ในวันที่ยายจากเราไป ไม่ต้องพูดถึงความเสียใจ รักยายมากต่อสู้ด้วยกันมาตลอด ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนอยู่บนโลกนี้คนเดียวเลย มันเคว้งมาก ทำอะไรไม่ถูกเลย พอจัดพิธีศพเสร็จฉันก็กลับไปอยู่หอพักสตรีใกล้โรงเรียน น้องชายก็อยู่ในหมู่บ้านเหมือนเดิมกับลุงและเพื่อนบ้าน ส่วนแม่ก็กลับไปทำงาน แต่ละเดือนแม่ก็ส่งค่าเช่าห้องมาให้ คือพอแต่ให้ค่าห้อง เหลือนิดหน่อยก็ต้องประหยัดแบบสุดๆ ส่วนใหญ่จะไปขออาศัยกินข้าวกับบ้านเพื่อนค่ะ

จนมาถึงจุดที่ฉันต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิต วันนั้นน้องชายมาหาฉันที่ห้องพักด้วยเนื้อตัวมอมแมมมาก น้องเล่าว่าออกมาเล่นนอกหมู่บ้านเลยคิดถึงพี่ เห็นผู้ใหญ่เค้าขึ้นรถบัสก็ขึ้นมาด้วย น้องบอกฉันหิวข้าว ทั้งเนื้อทั้งตัวฉันมีเงินอยู่ 10 บาท มีข้าวสารติดหม้ออยู่ 1 กระป๋องกับไข่ 1ฟอง เลยต้มข้าวใส่ไข่ให้ น้องชายกินด้วยความหิว เรานั่งดูน้องกินด้วยความปวดใจที่สุด แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ พอน้องกินเสร็จก็ให้เงินน้อง 10 บาท บอกให้เค้ากลับบ้าน น้องก็ร้องไห้งอแงไม่ยอมกลับ เค้าอยากอยู่กับพี่ เราก็หาเหตุผลเพื่อให้เค้ากลับไปเรียน ไปทำหน้าที่ของตัวเอง

ส่วนฉันเงินไม่มีแม้แต่บาทเดียวบ่อยครั้งนะ เงินจะซื้อน้ำกินยังไม่มีเลยต้องเอาขวดลงไปกรอกน้ำปะปาในห้องน้ำมาไว้กินแทนข้าว เลยทำให้ฉันต้องเลิกเรียน และตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ มาอยู่กับลูกสาวของลุง  ช่วยพี่เค้าทำงานแลกกับที่พัก และอาหารพอได้เงินนิดหน่อยก็ตัดสินใจไปสมัครเรียนกศน . จนจบ ม.3 เพราะในหัวตอนนั้นคิดเสมอว่า การศึกษาเท่านั้นที่จะพาเราพ้นจากความยากจนไปได้ จนมาถึงวัยที่ฉันสามารถทำงานหาเงินเองได้ แม่และน้องชายก็ได้มาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง เมื่อฉันส่งตัวเองเรียนจนจบกศน ม.6 ก็ต้องพักไว้ก่อน จึงหันมาส่งน้องเรียนจนน้องจบ ปวส. หลังากน้องมีงานทำเริ่มมีรายได้ จึงหันมาส่งตัวเองเรียนต่อจุดมุ่งหมายคือ ปริญาตรี แต่มันก็ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ นะคะ ตอนนั้นทำงานเป็นลูกจ้างในห้างฯ ได้พักหนึ่ง เจ้าของกิจการก็ดันมาปิดกิจการ กลายเป็นคนตกงาน เหลือเงินก้อนสุดท้ายในชีวิต 4,000 บาท ในใจคิดจะทำยังไงดีกับเงินก้อนนี้ คำตอบคือเอาไปสมัครเรียนปวส. ภาคค่ำ คือถ้าไม่ทำแบบนี้ชีวิตฉันอาจจะหาเงินก้อนไม่ได้อีกแล้ว เอาวะ ไปตายเอาดาบหน้า เหลือเงินทอนจากค่าสมัครเรียน 200 บาท

เป็นอีกช่วงที่ชีวิตต้องเผชิญกับความยากลำบาก
ฉันได้งานใหม่ที่ที่ห้างฯ เดิม แต่ต้องยอมให้เค้าหักเงินเดือนเพื่อที่ตัวเองจะได้ออกมาเรียนให้ทันทุกวัน บางวันมีแค่ค่ารถ คือถ้าทำเงินหายแม้แต่บาทเดียวอาจต้องเดินกลับบ้าน มีครั้งที่โดนโจรกระชากกระเป๋าตอนเดินเข้าบ้าน ไม่ได้ตกใจ ไม่ได้โวยวาย แต่น้ำตาคลอเพราะเงินที่เราต้องไว้ใช้กัน  3 คนแม่ลูก เป็นเงินก้อนสุดท้ายของบ้าน 300 บาทโดนโจรเอาไปแล้ว พรุ่งนี้จะเอาเงินจากไหนไปทำงาน จะเอาเงินจากไหนซื้อกับข้าว จะเอาเงินจากไหนเป็นค่ารถไปเรียน จะเอาเงินจากไหนให้แม่และน้อง มันมืดแปดด้านเลย แต่เราก็ผ่านมันมาได้แล้ว ใบปริญญาของเราอาจจะธรรมดาสำหรับใครๆ แต่สำหรับเรามันคือความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต

ชีวิตที่ผ่านมามันลำบากมาก ทุกวันนี้ก็พออยู่ พอกิน
คงเป็นเพราะนิทานของยายที่ทำให้ฉันมีทุกวันนี้ ตอนนี้ฉันอายุ 36 ปีแล้ว มีครอบครัวและมีกิจการเล็กๆ เป็นของตัวเอง จึงอยากจะฝากบอกถึงเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ที่ประสบปัญหาพ่อแม่แยกทางเหมือนกับฉัน และผู้ที่ได้อ่านเรื่องราวของฉันนะคะว่า “อย่าถือเอาชาติกำเนิดของตัวเองเป็นที่ตั้ง อย่าเอาปัญหาของพ่อแม่ที่เลิกกันมาเป็นปัญหาของชีวิตเรา เราไม่สามารถแก้ไขสิ่งที่มันเกิดขึ้นไปแล้วได้ แต่เราสามารถกำหนดชีวิตและอนาคตที่ดีให้กับตัวเราเองได้ เพียงแค่เรามีจุดยืน มีความฝัน มีความรับผิดชอบที่จะทำตามฝันนั้นให้ได้ และจงคิดเสมอว่าเราจะนำพาตัวเราและครอบครัวไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าอย่างไร เหนื่อยก็พัก ค่อยๆ ก้าว อย่าซ้ำเติมตัวเองโดยการพาชีวิตไปสู่สิ่งที่ไม่ดี ขอย้ำว่าอย่าโกรธหรือโทษพ่อแม่ และการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะฉันได้พิสูจน์มาแล้วว่ามันจริง
 
    
 
    

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ “วัลลี 2” สาวน้อยเลี้ยงยายตาบอดและน้อง ทุกวันนี้เธอเป็นแบบนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook