เต้นเปลี่ยนชีวิต "หลอดไฟ นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์”

เต้นเปลี่ยนชีวิต "หลอดไฟ นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์”

เต้นเปลี่ยนชีวิต "หลอดไฟ นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณค้นพบว่าตัวเองชอบสิ่งไหน อยากทำอะไรเมื่ออายุเท่าไหร่? "หลอดไฟ นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์” ลูกสาวของ “วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์” ผู้บริหารและเจ้าของโรงเรียนบางกอกแดนซ์ ค้นพบและหลงใหล “การเต้น” ตั้งแต่อายุเพียง 4 ขวบ

เส้นทางสู่การเต้นระดับโลกของคุณหลอดไฟ ผู้หญิงชื่อเก๋คนไทยคนเดียวที่ได้รับทุน Dance Web เพื่อเข้าร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะการเต้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก “Vienna International Dance Festival” จะมีความน่าสนใจแค่ไหน เพราะอะไรการเต้นจึงเป็นทั้งชีวิตของเธอ

“หลอดไฟเริ่มเต้นตอนอายุแค่ 4 ขวบ คุณแม่ไม่ได้บังคับว่าต้องเรียนเต้น เขารู้ว่าของแบบนี้บังคับกันไม่ได้ เราเรียนเต้นมาตลอด พออายุประมาณ 13 ปี รู้เลยว่าการเต้นกับบัลเล่ต์โหดมาก คือไม่ใช่แค่ว่าต้องสู้กับจิตใจแต่มันต้องไปกับร่างกายที่เหมือนกระดูกหรือโครงสร้างมีผลกระทบกับการเต้นด้วย โครงสร้างในส่วนเท้าของหลอดไฟไม่ได้สวยมาก ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าคนอื่น เลยส่งผลทำให้ไปได้ช้า”

เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเป็นเรื่องปกติที่เด็กๆ เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น “หลอดไฟ” ก็เช่นกัน เธอเริ่มอยากมีชีวิตเหมือนเด็กธรรมดาทั่วไป ไปเดินเล่น ดูหนัง ฟังเพลง ไม่ต้องมาเรียนเพียงอย่างเดียวจนทำให้มีช่วงที่อยากเลิกเรียนไปพักหนึ่ง แต่ไม่กล้าบอกคุณแม่ตรงๆ จนกระทั่งสถาบันบางกอกแดนซ์มีโครงการพิเศษ “Soloist” เป็นโครงการคัดเลือกนักเรียนที่มีศักยภาพด้านการเต้นด้วยหลักสูตรเข้มข้น เธอจึงเข้าร่วมโครงการนี้

“ช่วงนั้นหลอดไฟไม่มีแรงกระตุ้น เลยอยากพัก แต่พอมีโครงการ Soloist เลยลองเสี่ยงเข้าไปดู ต้องเรียนเต้นหลายรูปแบบ 10 ชม. ต่ออาทิตย์ หลังเลิกเรียนต้องมาเรียนเต้นทุกวันเป็นเวลา 6 เดือนรู้เลยว่าเป็นสิ่งที่เราสนใจมาก เรียนเต้นมา 10 กว่าปี ยกขาได้ 90 องศา แต่เข้าโครงการนี้แค่สิบเดือน เราสามารถยกขาได้ติดหัวเลย จากนั้นก็เริ่มสนุกกับร่างกายตัวเอง เรียนกับเต้นคู่กันตลอด จนการเต้นมากกว่าด้วยซ้ำเราได้ทำอะไรที่ท้าทายตัวเองตลอดเวลา ก็เลยตกหลุมรัก”

พัฒนาการด้านการเต้นของเธอโดดเด่นและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ “หลอดไฟ” มีโอกาสไปแข่งขันที่ต่างประเทศหลายเวที แข่งที่ไหนก็ชนะตลอด เป็นคนไทยคนแรกที่คว้ารางวัล Aggregate Cup จากการแข่งขัน Asia Pacific Dance Competition ครั้งที่ 11 และเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้รับทุน Dance Web เพื่อเข้าร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะการเต้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก “Vienna International Dance Festival จนเกิดความมั่นใจในตัวเอง คิดว่าตัวเองแน่

“อีโก้เริ่มมาเยอะมากขึ้น คิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับการเต้น เข้ามหาวิทยาลัยไหนก็เข้าได้ จนหลอดไฟได้เข้ามหาลัยที่ออสเตรเลีย จากที่ตัวเองเหมือนเป็นปลาตัวโตมากในอ่างเล็กๆ รู้ไปหมดทุกอย่าง โดนโยนเข้าไปในมหาสมุทรอันใหญ่ ก็เหมือนเริ่มหนึ่งใหม่ กลายเป็นว่าเราเริ่มเรียนรู้จริงๆ เริ่มเรียน contemporary การเต้นร่วมสมัยที่ออสเตรเลียไปเรียน 3 ปี จากที่อยู่แถวหน้ากลายเป็นไปอยู่ด้านหลังแล้วเริ่มใหม่”

การออกไปเรียนรู้โลกกว้าง ทำให้คุณหลอดไฟพบเจอเรื่องราวและประสบการณ์ชีวิตมากมาย โดยเฉพาะโลกภายนอกสอนให้คุณหลอดไฟไม่ได้เป็นเพียงนักเต้นยอดฝีมือ แต่ยังสอนให้เป็นศิลปิน โดยเฉพาะทำให้เธอค้นพบว่าสไตล์การเต้นแบบ Contemporary เป็นสไตล์การเต้นแบบคิดนอกกรอบ ไม่ใช่เทคนิคเตะขาหมุนตัวแบบที่เคยทำมาตลอด

จากนั้นคุณหลอดไฟเขียนจดหมายเพื่อขอทุนไปเรียนเต้นที่ยุโรป ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก 45 คนจากทั่วโลกเท่านั้นถึงจะมีโอกาสร่วมเวิร์คช็อป

“ตอนที่เขียนจดหมายส่งไปขอทุน หลอดไฟไม่ได้เขียนส่งไปว่าหลอดไฟเก่งแค่ไหน แต่เขียนว่าหลอดไฟต้องการอะไร และหลอดไฟพร้อมจะเรียนรู้ขนาดไหน บางทีที่เขาเปิดรับทุนเขาก็ไม่ได้อยากรู้ว่าคุณเก่งขนาดไหน เพราะคนเก่งมีเยอะ เขาอยากเห็นความจริงใจมากกว่า ไปอยู่ที่นู่นเราก็เหมือนหาตัวเองเจอ พอเรากลับมาก็เปลี่ยนทัศนคติเปลี่ยนมุมมองแล้วก็กลับมาปรับเปลี่ยนที่นี่อีกครั้ง”

อุปสรรคสำหรับการทำอะไรบางอย่างอาจเป็นเรื่องของร่างกาย การบาดเจ็บ สุขภาพ แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคกับทุกเรื่องในชีวิตนั่นคือ “ความกลัว” เธอเองเคยพบกับเหตุผลนั้นจนทำให้ครั้งหนึ่งเคยคิดเลิกเต้น “ครูที่สอนเคยบอกว่า “เธอไม่ได้อยากเลิกเต้นหรอก แต่เธอแค่กลัว”

เมื่อได้ฟังเช่นนั้นจึงเป็นคำตอบที่ใช่ เนื่องจากเธอตั้งความหวังไว้สูง แต่แล้วเมื่อทำการแสดงอีกครั้งและมีคนมาดูทั้งๆ ที่เธอพูดภาษาไทยไม่ได้ทั้งยังร่วมร้องไห้ไปด้วยนั่นคือสิ่งที่ทำให้เธอรู้ว่าหากจริงจังกับอะไร คนอื่นก็สามารถรับรู้ถึงสิ่งนั้น และนั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอโตเป็นผู้ใหญ่และใจเย็นขึ้น

“เราต้องผ่านอุปสรรคหรือช่วงเวลาที่เราต้องข้าม น้องๆทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักเต้นคนไหนมีอุปสรรคไม่เหมือนกัน เรื่องบาดเจ็บนี่มาก่อนเลย หลอดไฟเคยแขนหัก ไหล่หลุด การเต้นกับการบาดเจ็บมักมาคู่กัน ถ้าเจ็บแล้วรู้สึกว่าไม่เอาแล้ว นั่นคือเขาไม่ได้ทุ่มเทกับมันจริงๆ มันจะดูได้ง่ายมากเลย แต่กับบางคนที่ต้องผ่าตัดหัวเข่าสามรอบ พักฟื้นกล้ามเนื้อใหม่เพื่อจะกลับมาเต้น เขาไม่ใช่แค่สู้เฉพาะการเต้น เขาสู้กับชีวิตด้วย มันทำให้เราแข็งแรงขึ้นเยอะ”

หลังเสร็จสิ้นบทสนทนาลองคิดทบทวนกับตัวเองดูว่า สิ่งที่คุณกำลังทำอยู่คือเป้าหมายที่ใช่หรือไม่ หากไม่ใช่ ควรเร่งหาเป้าหมายของตัวเองให้เจอนะคะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook