ปัญหาผื่นในเด็กแรกเกิด

ปัญหาผื่นในเด็กแรกเกิด

ปัญหาผื่นในเด็กแรกเกิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
คุณแม่ของน้องจูนและน้องบอย

Q2 : อยากปรึกษาคุณหมอว่าพวกผื่นในเด็กแรกเกิดนั้นเกิดจากอะไร ลูกเกิดได้ 6 วัน ที่หน้าผากมีผื่นขึ้นเป็นตุ่มใสๆ พยายามหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตแล้วแต่ก็ยังไม่ทราบว่ามันคืออะไร มันจะหายไปเองไหมคะ ต้องใช้วาสลีนหรือครีมอะไรทาให้ลูกไหมคะ และรักษาได้อย่างไรคะ

การที่คุณแม่เปรียบเทียบลักษณะผื่นของลูกผ่านข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตแล้ววินิจฉัยโรคเองนั้นอาจจะไม่แม่นยำ ทำให้ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นทางที่ดีที่สุด คือ การพาลูกไปพบแพทย์ตรวจค่ะ ผื่นที่คล้ายลักษณะที่คุณแม่กล่าวนั้นมี 7 ประเภท หมอขออธิบายดังนี้ค่ะ

1.ผื่นแดง ETN (Erythema Toxicum Neonatorum) พบได้ร้อยละ 40-70 เป็นผื่นแดงขนาด 1-3 ซม. มีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองขนาด 1-3 มม.อยู่ตรงกลาง ไม่ทราบสาเหตุ พบได้ตามลำตัวและแขนขา แต่ไม่ค่อยพบที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ส่วนใหญ่หายเองใน 1 สัปดาห์ ส่วนน้อยอาจเป็นนานหลายสัปดาห์

2.ผื่น Milia เป็นตุ่มเม็ดขาวๆ เหลืองๆ พบที่ หน้าผาก แก้ม จมูกของทารก และอาจจะพบที่เหงือกและกลางเพดานปากได้ด้วย เกิดจากการตกค้างของสารเคอราตินซึ่งโปรตีนชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในหนังกำพร้า
ผม เล็บ ส่วนใหญ่หายภายใน 1-2 เดือน

3.Transient Neonatal Pustular Melanosis เป็นผื่นที่พบเฉพาะในทารกแรกเกิด เป็นตุ่มน้ำใสผิวบางแตกง่ายบนผิวหนังสีปกติ เมื่อแตกแล้วจะเป็นขุยขาวบนพื้นผิวที่เข้มกว่าสีผิวปกติ แต่สีจะจางหายเป็นปกติภายใน 3 เดือน
พบได้ทั้งร่างกายรวมทั้งฝ่ามือฝ่าเท้า ไม่ต้องรักษาหายได้เอง

4.สิวฮอร์โมน (Neonatal acne) ไม่ทราบสาเหตุ อาจสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายที่ค่อนข้างสูงจากแม่หรือของเด็กเองไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน พบได้ตั้งแต่อายุ 3 สัปดาห์เป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนอง พบเฉพาะที่ใบหน้าพบบ่อยบริเวณแก้ม
แต่อาจพบที่หนังศีรษะ ส่วนใหญ่หายได้เองไม่ควรทาโลชั่นหรือน้ำมันเพราะจะทำให้อุดตันรูขุมขนมากขึ้นในรายที่เป็นมากควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาทาช่วยบรรเทาอาการ

5.ตุ่มน้ำพองจากการดูดของทารก (sucking blister) เป็นตุ่มน้ำพอง บางครั้งก็แตกแล้วตกสะเก็ดอาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างที่หลังมือ ข้อมือหรือนิ้วมือในบริเวณที่สามารถเอาเข้าปากลูกได้ ส่วนใหญ่ไม่ต้องรักษา ยกเว้นรายที่มีติดเชื้อแบคทีเรีย แทรกซ้อน แพทย์จะให้ยาต้านแบคทีเรีย

6.ผดร้อน (miliaria) พบบ่อยในเดือนแรก เนื่องจากอากาศร้อนแต่ระบายเหงื่อได้ไม่ดี มี 3 แบบ คือ ผดตุ่มแดง ผดตุ่มใส และผดตุ่มหนอง พบบ่อยที่ใบหน้า หนังศีรษะ และข้อพับ ส่วนใหญ่หายได้เองเมื่ออากาศเย็นสบาย ถ้าไม่ดีขึ้นแพทย์อาจสั่งใช้ยาสเตียรอยด์อ่อนๆ

7.ต่อมไขมันอักเสบ (seborrheic dermatitis) เป็นผื่นแดงมีสะเก็ดเหลืองของไขมันปกคลุม พบบ่อยที่หนังศีรษะ ใบหน้า หู คอ และบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดส่วนใหญ่หายได้เองภายในเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนการรักษาในรายที่เป็นมาก แพทย์อาจใช้ ยาทาต้านเชื้อรา สเตียรอยด์ และแชมพูที่รักษารังแคและเชื้อรา โดยทาเบบี้ออยล์หรือน้ำมันมะกอกที่สะเก็ดเพื่อให้นุ่มก่อนสระผม 1 ชม.แล้วใช้ขนแปรงนุ่มๆแปรงเบาๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook