หน่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

หน่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

หน่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรงพยาบาลสัตว์

ขึ้นชื่อว่าเป็นคอลัมน์ In Emergency ทั้งที ก็พลาดไม่ได้ที่จะพาคุณผู้อ่านมาล้วงแทะแกะเกาหน่วยฉุกเฉินกันจริงไหมล่ะค่ะ แล้วถ้าจะพูดถึงหน่วยฉุกเฉินที่เป็นที่รู้จักกันของคนรักสุขภาพน้องหมาหลายๆคน คงหนีไม่พ้นหน่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาลสัตว์ใหญ่ๆอย่าง โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนั้นในฉบับนี้เราจึงได้เดินทางมาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำความรู้จักกับหน่วยงานนี้ให้ดีขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก สพ.ญ.สุวรัตน์ วดีรัตน์ พาเยี่ยมชมและให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ที่เกิดภาวะฉุกเฉินต่างๆค่ะ หน้าที่ความรับผิดชอบ หน่วยนี้จะทำหน้าที่ครอบคลุมตั้งแต่รับสัตว์ป่วยเข้ามาที่โรงพยาบาล ทั้งที่ประสบอุบัติเหตุรถชน รถไฟทับเสียเลือดจากการโดนสุนัขอื่นกัด โดนฟันหรือกรณีอื่นๆ เช่น หายใจไม่ออก คลอดลูกไม่ได้ ลูกตายในท้อง มีสภาวะเลือดจาง เบาหวาน โรคไต และโรคหัวใจขั้นรุนแรง รวมทั้งรับสัตว์ป่วยจากแผนกอื่นๆ เช่น อายุรกรรม สูติกรรม ศัลยกรรม หลังจากผ่าตัดจะส่งมาพักฟื้นและ Monitor อาการต่อเนื่องจนกว่าสุนัขจะมีอาการดีขึ้น และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ที่นี่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด มีคุณหมอให้บริการตลอด โดยจะมีคุณหมอเข้าเวรประจำ ประมาณ 2-3 ท่านเพื่อคอยรักษา ผ่าตัดและดูแลสัตว์ป่วย รวมทั้งรับปรึกษาปัญหาทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับกรณีฉุกเฉินสามารถเข้ามาได้ตลอดเวลา หากสัตว์ป่วยจำเป็นต้อง Admit เจ้าของจะต้องคอยช่วยอยู่เฝ้าอาการร่วมกับคุณหมอด้วยตลอด โรงพยาบาลสัตว์ กรณีฉุกเฉินที่พบส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น เจ้าของพักอยู่คอนโดหรือตึกสูงก็จะมีปัญหาแมวหรือสุนัขตกลงมาบางตัวอาจเสียชีวิตในทันที บางตัวอาจแค่ขาหัก หรือถ้าหนักหน่อยอาจเกิดอาการสมองบวม เลือดคั่งในสมอง กระดูกสันหลังหักเป็นอัมพาต บางกรณีกัดกันมาไส้ทะลัก ตาถลน หรือโดนรถชนกระเพาะปัสสาวะแตก ถ้าเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่เจ้าของให้กินอาหารอิ่มๆ แล้วพาไปวิ่งก็เกิดอาการกระเพาะบิด ก็ต้องรีบผ่าตัดแก้ไขในทันที วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำส่งโรงพยาบาล 1.โดนสารพิษ เจ้าของควรรีบนำสัตว์ส่งโรงพยาบาลอย่างเร็วที่สุด โดยนำสารพิษที่สัตว์กินเข้าไปมาให้หมอดูด้วย ถ้าทราบเป็นสารพิษชนิดใดจะได้ให้ยาได้ถูกต้อง เช่น ยาเบื่อหนูก็ให้ Vitamin K ถ้าสัตว์เพิ่งกินเข้าไปเจ้าของอาจพยายามทำให้สัตว์อาเจียนโดยป้อนไข่ขาวหรือนม แต่ถ้าเป็นสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เช่นน้ำยาล้างห้องน้ำก็ไม่ควรให้อาเจียน เมื่อมาถึงโรงพยาบาลหมออาจจะให้ยาเพื่อให้สัตว์อาเจียนหรือล้างท้อง แต่ที่เจอส่วนใหญ่เจ้าของมักจะทราบว่าสัตว์โดนยาเบื่อก็เมื่อสัตว์กินเข้าไปนานแล้วจนมีอาการถ่ายเป็นเลือดสด หรือาเจียนเป็นเลือดไปแล้ว ซึ่งกรณีนี้อาจช่วยไม่ทันเพราะมีสารพิษดูดซึมเข้ากระแสเลือดจนหมดแล้ว วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ ไม่ควรปล่อยให้สุนัขออกไปนอกบ้านโดยลำพัง เก็บสารพิษ หรือยาเบื่อหนูให้ห่างจากสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักของท่านและฝึกนิสัยไม่ให้รับของกินจากคนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของ 2.อากาช็อค ถ้าเกิดอาการช็อค เจ้าของก็ต้องช่วยนวดหัวใจ (บริเวณซี่โครงที่ 3-4) และเคลียร์ทางเดินหายใจบางครั้งมีอาการอเจียนร่วมด้วย อาจมีเศษอาหารเข้าไปติดหลอดลม ทำให้หายใจไม่ออก ดังนั้นควรพยายามให้สัตว์ก้มหัวต่ำ หรืออาจจะใช้ลูกยางช่วยดูดออก และพยายามเอาอาเจียนออกจากปากให้หมด แล้วรีบพามาส่งโรงพยาบาล สำหรับลูกสุนัขบางตัวมีอาการช็อค เพราะน้ำตาลในเลือดต่ำ เจ้าจองสามารถป้อน Glucose ได้ เพื่อเพิ่มระดับปริมาณน้ำตาลในเลือดแต่ทำได้ในกรณีสัตว์ยังมีสติเท่านั้น เพราะบางทีถ้าสัตว์ไม่มีสติจะทำให้สำลักเข้าปอดได้ แต่ถ้าช็อคไปนานๆก็ทำให้ขาดออกซิเจนในสมอง ส่งผลทำให้สมองตายได้ 3.โดนรถชน ถ้าโดนชนแล้วมีอาการเลือดออก ให้พยายามห้ามเลือดและเวลาเคลื่อนย้ายควรมีกระดานรองแล้วรีบพามาโรงพยาบาลทันที แต่ที่เจอบ่อยๆคือคนที่ใจบุญพยายามช่วยเหลือสัตว์ที่ถูกรถชนอยู่ข้างถนน อันนี้ต้องระวังให้มาก อย่าเพิ่งไปจับหรือสัมผัสตัวสัตว์ เพราะสัตว์เหล่านี้เมื่อเจ็บจะดุและอาจกัดท่านได้ บางครั้งอาจมีเชื้อโรค เช่นพิษสุนัขบ้า ซึ่งอันตรายมากๆ ทางที่ดีควรโทรเรียกหน่วยกู้ภัยหรือผู้มีความชำนาญจะดีกว่า โรงพยาบาลสัตว์ ฝากถึงการดูแลสุนัข เรื่องของอุบัติเหตุ ถ้าเราจะเลี้ยงสุนัข-แมวควรมีรั้วรอบขอบชิด ไม่ควรปล่อยออกมาเดินตามถนน เพราะถ้าเกิดโดนรถชนกับสุนัข-แมวของท่าน ถ้าดีหน่อยอาจแค่ขาหัก แต่ถ้าโชคร้ายอาจถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้ ส่วนเรื่องสารพิษ ควรจะใช้เป็นพวกกรงดักหรือกาวดักหนูแทนการใช้ยาเบื่อหนู เพราะแทนที่จะเป็นหนูกินกลับกลายเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักของท่านกินเสียเอง แต่ถ้าใช้กาวดักหนูก็ต้องระวัง บางทีแมวหรือตุ๊กแกก็ติดมาแทน จึงควรวางในที่ที่สัตว์เลี้ยงเข้าไปไม่ถึง แล้วก็อีกกรณีคือเจ้าของฉีดยาคุมเอง สุนัขและแมวเหล่านี้จะมีปัญหาคลอดไม่ออก ลูกตายหรือมดลูกเน่าตามมา ถ้าไม่ต้องการให้มีลูก หมอแนะนำให้ทำหมันจะดีที่สุด หรือบางกรณีที่พ่อสุนัขตัวใหญ่ แม่ตัวเล็ก ลูกในท้องมักมีขนาดใหญ่อาจมีปัญหาคลอดยาก หรือลูกคลอดผิดท่า ถ้าใกล้คลอดหมอแนะนำให้เจ้าของนำสุนัขมา X-ray หรือ ultrasound ก่อนจะดีกว่า เพราะถ้าแม่เบ่งลูกนานเกินไปทำให้มดลูกแตก ทำให้แม่สุนัขก็ตายได้ ทุกอย่างสำหรับหมอ มันคือชีวิตต้องช่วยให้ทันท่วงที อย่างกรณีเจอสุนัขที่มีอาการกระเพาะบิดมาต้องรีบแก้ไขอย่างรีบด่วน เพราะนอกจากกระเพาะจะบิดแล้ว ม้ามก็บิดตามได้ด้วย ทำให้อวัยวะเหล่านี้ขาดเลือดมาเลี้ยงเกิดเนื้อตาย และเสียชีวิตในเวลาต่อมาถ้าช่วยไม่ทัน สุนัขที่พบอาการเหล่านี้บ่อยก็คือ เซนเบอร์นาร์ด โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ โดยเของสามารถสังเกตได้ง่ายๆ หลังจากสุนัขกินอาหารอิ่มๆแล้วไปวิ่ง จะเห็นสุนัขท้องป่องมาก อันนี้เจ้าของต้องระวังให้ดีอย่าเพิ่งพาไปวิ่งหลังกินอาหารนะคะ ส่วนไม้เสียบลูกชิ้นก็อาจเป็นฆาตกรได้บ่อยๆ เพราะสุนัขบางตัวกินเร็วมากเลยกินไม้เข้าไปทั้งอัน บางทีเจ้าของไม่รู้ เจออีกทีไม้เสียบทะลุผิวหนังออกมาแล้ว หรือไม่อาจจะเสียบอวัยวะอื่น ทำให้เกิดการอักเสบในช่องท้องอย่างรุนแรง อีกอย่างที่ต้องระวังคือสุนัขหรือแมวกินเข็มกับด้ายไปพันลำไส้ ขาดเลือดมาเลี้ยงลำไส้ จนเสียชีวิตก็เจอบ่อยๆ อุบัติเหตุอยู่รอบตัวและเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาจริงๆนะคะ แม้แต่คนที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนอย่างเราๆก็สามารถเกิดอุบัติเหตุได้ด้วยกันทั้งนั้น นับประสาอะไรกับน้องหมา น้องแมวที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็ยิ่งต้องคอยระมัดระวังตัวกว่าเจ้าของหลายเท่า ดังนั้นทางที่ดี เราควรจะดูแลและเอาใจใส่พวกเขาให้ดี เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเพราะอาจนำมาซึ่งความสูญเสียก็เป็นได้ ฉะนั้นแล้วการตั้งตนอยู่บนความไม่ประมาทเห็นจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่ควรพึงกระทำนะคะ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ หน่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook