ย้อนรำลึก "คำสอนพ่อ" เลี้ยงลูกอย่างไรให้ ดี งาม

ย้อนรำลึก "คำสอนพ่อ" เลี้ยงลูกอย่างไรให้ ดี งาม

ย้อนรำลึก "คำสอนพ่อ" เลี้ยงลูกอย่างไรให้ ดี งาม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"...เด็ก เป็นผู้ที่จะได้รับช่วงทุกสิ่งทุกอย่างต่อจากผู้ใหญ่ ดังนั้น เด็กทุกคนจึงสมควรและจำเป็น ที่จะต้องได้รับ การอบรมเลี้ยงดูอย่าง ถูกต้องเหมาะสม ให้มีศรัทธามั่นคงในคุณงามความดี มีความประพฤติเรียบร้อย สุจริต และมีปัญญา ฉลาดแจ่มใสในเหตุผล..." พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานในโอกาสปีเด็กสากลวันที่ 1 มกราคม 2522

ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์สมบัติ พระราชกรณียกิจต่างๆ ที่พระองค์ทรงปฏิบัตินั้นล้วนเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างหาที่สุดมิได้ ถึงแม้วันนี้พระองค์ได้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์ ยังคงมีคุณค่าต่อปวงชนชาวไทยในการนำมาเป็นหลักยึดเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต เปรียบเสมือนเป็นคำสอนของพ่อที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่า

ในฐานะประชาชนของแผ่นดิน คงไม่มีการตอบแทนคุณใดดีไปกว่า การน้อมนำคำสอนของพ่อ มาประยุกต์ใช้ในชีวิต เพื่อเป็นคนดีให้พ่อได้ภูมิใจ โดยสถาบันสุขภาพเด็กฯ จึงขอน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบางส่วนมานำเสนอพร้อมสอดแทรกข้อคิดที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูลูกน้อย เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ผู้อ่านไม่เพียงได้ปฏิบัติตามเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งต่อการดำเนินชีวิตตามพระบรมราโชวาทไปยังเจ้าตัวน้อย เปรียบเสมือนการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามในใจลูก สืบสานเจตนารมณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช อันทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ให้คงอยู่ต่อไปไม่รู้จบ

"...เด็กๆ ต้องฝึกหัดอบรมทั้งกายทั้งใจให้เข้มแข็งเป็นระเบียบ และสุจริตเพื่อประโยชน์ของตนในภายหน้า เพราะคนที่ไม่เข้มแข็งไม่สามารถควบคุมกายใจให้อยู่ระเบียบและความดี ยากนัก ที่จะได้ประสบความสำเร็จและความเจริญอย่างแท้จริงในชีวิต..."

                                    ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาทพระราชทานเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี ๒๕๒๖

 

สร้างความเข็มแข็งทางใจให้ลูกน้อย

  ความเข้มแข็งทางใจ คือ ความสามารถในการจัดการกับปัญหาและวิกฤติของชีวิตให้สามารถฟื้นตัวกลับสู่สภาพปกติได้ในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งเกิดการเรียนรู้และเติบโตจากการเผชิญหน้ากับปัญหาและวิกฤติ ซึ่งแต่ละคนมีวิธีการจัดการปัญหา หรือการมองปัญหาไม่เหมือนกันทั้งนี้การจะรับมือกับปัญหาอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูและประสบการณ์ในวัยเด็กเป็นสำคัญ

ความเข้มแข็งทางใจในภาษาอังกฤษใช้คำอย่างเป็นทางการว่า Resilience แต่หากเป็นภาษาพูดก็คือ bouncing back หรือความสามารถในการคืนสภาพสู่ความยืดหยุ่นสมดุล เปรียบเหมือนเวลาที่เราเจอสภาวะที่ไม่พึงประสงค์เราจะสามารถกลับมาตั้งหลักใหม่ได้ดีเพียงใด ซึ่งความสามารถในการปรับตัวหลังจากเจอภาวะที่ไม่พึงประสงค์นั้นแต่ละคนมีไม่เท่ากัน ทั้งนี้เป็นเพราะแต่ละคนมีความเข้มแข็งทางใจไม่เหมือนกันนั่นเอง

ทั้งนี้ การสร้างความเข้มแข็งทางใจ เป็นกระบวนการพัฒนาส่วนบุคคล เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์ และจิตใจแตกต่างกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าในสถานการณ์เดียวกันเด็กๆ จะตอบสนองแตกต่างกันไป อีกทั้งสภาพแวดล้อม ค่านิยมของสังคมที่แตกต่างก็อาจส่งผลต่อการแสดงออกต่อปัญหาของเด็กๆ ต่างกันไปด้วย อย่างไรก็ดี พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมให้ลูกพัฒนาไปสู่การมีความเข้มแข็งทางใจได้ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

  • เด็กๆ ควรมีความรู้สึกผูกพันมั่นคงกับผู้เลี้ยงดูอย่างน้อยหนึ่งคน ที่จะเป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิต
  • เปิดโอกาสให้ลูกได้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ เองบ้าง โดยที่คุณเป็นผู้สังเกตทัศนคติของลูกอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความรู้สึกต่อผลของการตัดสินใจได้ไม่ว่าจะดีหรือร้ายด้วยตัวเอง
  • ให้ลูกรู้ว่าคุณมีความห่วงใยในทุกสิ่งที่ลูกทำ และคุณคาดหวังว่าลูกจะทำทุกสิ่งอย่างดีที่สุด ไม่ว่าดีที่สุดของลูกจะแค่ไหนก็ตาม พ่อแม่จะยอมรับและคอยให้กำลังใจเสมอ
  • มีส่วนร่วมในประสบการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาเป็นคนพิเศษและเป็นตัวของตัวเอง สอนลูกให้เข้าใจวิธีการรับมือกับคำชม และคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ
  • เด็กๆ จะรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีกว่า หากเขารู้สึกมั่นคงและปลอดภัย ดังนั้นไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะทำงานเครียดเพียงใด ควรหาเวลาในแต่ละวันที่จะพูดคุยถามไถ่ความเป็นไปในชีวิตลูก แบ่งปันเรื่องราวในชีวิตประจำวันของคุณ ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานความเชื่อใจที่สำคัญระหว่างคุณและลูก
  • เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำงานเพื่อคนอื่นๆ เช่น การเป็นอาสาสมัคร หรือพาลูกไปบริจาคสิ่งของให้กับผู้ขาดแคลน กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้ถึงความสามารถของตนเอง และช่วยให้ลูกค้นพบตัวตนได้ง่ายขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นอีกทั้งยังทำให้ลูกมองเห็นคุณค่าในตัวเองและในคนอื่นๆ รอบตัวอีกด้วย
  • ทำให้ลูกรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว พ่อแม่รู้สึกขอบคุณที่มีลูกอยู่ในชีวิต มอบหมายให้ลูกดูแลสัตว์เลี้ยง ดูแลน้อง และงานบ้านอื่นๆ ที่เหมาะสมกับความสามารถของลูก
  • สอนลูกให้ยอมรับสิ่งที่เขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ อธิบายให้ลูกเขาใจว่าแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกันและความแตกต่างนี่เองที่ทำให้ทุกคนมีความพิเศษเฉพาะตัว
  • สอนลูกให้รู้จักต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองด้วยวิธีที่เหมาะสม พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการพูดคุยด้วยเหตุผลและให้เกียรติซึ่งกันและกัน แม้จะมีความคิดไม่เหมือนกันก็ตาม

 

“การมีเสรีภาพนั้น เป็นของที่ดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ตามความรับผิดชอบมิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนร่วมด้วย

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๔

 

เลี้ยงลูกให้มีเสรีภาพ อย่างพอดี

            เรากำลังอยู่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทั่วโลก เชื่อมโยงถึงกันอย่างไม่มีขีดจำกัด การพูดคุยกับเพื่อนที่อยู่คนละฝั่งทวีปทำได้ง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส เรามีอิสระเสรีในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันเราก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น หรือแสดงออกซึ่งการกระทำได้ตามเสรี อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เสรีภาพนั้น หาใช่ความเสรีที่ไม่มีขีดจำกัด หากแต่เป็นการแสดงออกซึ่งความคิดและการกระทำโดยอยู่ในขอบเขตที่จะไม่ไปล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น อีกทั้งการแสดงออกซึ่งเสรีภาพนั้นยังคงต้องคำนึงถึงกาลเทศะเป็นสำคัญควบคู่กันไปด้วย

            คำถามก็คือจะทำอย่างไรให้เจ้าตัวน้อยเรียนรู้เรื่องเสรีภาพ ไปพร้อมกับการรู้ถึงขีดจำกัดว่าเสรีภาพเท่าใดที่ไม่มากและไม่น้อยเกินไป เพราะเสรีภาพที่มากเกินไปอาจนำมาซึ่งปัญหาไม่ว่าจะต่อตนเอง คนรอบข้างและสังคม ขณะที่เสรีภาพที่น้อยเกินไป ก็อาจส่งผลให้การดำรงชีวิตของลูกไม่เป็นปกติสุขได้

            คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า เสรีภาพนั้น คือการทำอะไรก็ได้ตามความต้องการของตนเองโดยที่ไม่กระทบผู้อื่น ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้ก็ไม่ถูกต้องเสมอไปนัก เพราะการ “ทำอะไรก็ได้” แม้จะไม่กระทบต่อส่วนรวมโดยตรง แต่หากส่งผลเสียต่อตัวผู้กระทำเอง ก็ย่อมเกิดผลเสียต่อสังคมโดยรวมในทางอ้อมด้วย เช่น การใช้ยาเสพติด แม้ผู้เสพจะไม่ได้มีอาการคลั่งออกไปอาละวาดทำร้ายใคร แต่ผลเสียของการใช้ยา ก็ย่อมทำให้ผู้นั้นมีความเจ็บป่วยทางกาย ทางใจ ไม่สามารถใช้ชีวิตหรือทำงานได้ตามปกติ ทำให้สังคมขาดบุคลากรที่มีคุณภาพไปอย่างน้อยหนึ่งราย คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนให้ลูกตระหนักว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว” นั่นเอง

            การสอนลูกให้รู้จักใช้เสรีภาพอย่างมีขอบเขต จึงจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการฝึกระเบียบวินัย เช่น ภายในห้องส่วนตัวของลูก ลูกจะตกแต่งอย่างไรก็ได้ แต่ลูกก็มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาให้สะอาดเรียบร้อยด้วย หากลูกเลือกที่จะไม่ทำความสะอาดห้อง ลูกก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษของพ่อแม่ หรือการที่ห้องส่งกลิ่นเหม็นและเป็นที่อยู่ของสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าเสรีภาพ ต้องเกิดขึ้นภายใต้กฎระเบียบ และการเคารพซึ่งกันและกัน พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้เสรีภาพอย่างเหมาะสม คอยให้คำแนะนำ และอธิบายให้ลูกฟังถึงการที่ลูกจะต้องรับผิดชอบต่อผลของการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกได้เห็นได้เรียนรู้ในชีวิตประจำวันด้วย

 

“การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัวช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๒

สอนลูกรักรู้จักใช้เงิน

            ว่าด้วยเรื่องการสอนลูกให้รู้คุณค่าของเงิน และการรู้จักใช้เงินนั้น อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่จะว่าไปแล้ว การใช้เงินเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา หากเราหาโอกาสที่เหมาะสมในการแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างและค่อยสอนสอดแทรกแนวคิดเรื่องการใช้เงินไปในชีวิตประจำวันเด็กก็จะซึมซับได้เองโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่คำนึงถึงวัยของลูกในการสอนเรื่องการใช้เงินเพื่อให้เจ้าตัวน้อยเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นดังนี้ค่ะ

            สอนลูกวัย 2-3 ปี สำหรับเจ้าตัวน้อยวัยนี้อาจยังไม่เข้าใจเรื่องคุณค่าของเงินเท่าใดนัก แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มสอนให้ลูกรู้จักชื่อเรียกและมูลค่าของเหรียญและธนบัตรชนิดต่างๆ ได้แล้ว โดยใช้วิธีเล่นสนุกๆ อย่างการนำเหรียญวางไว้ใต้แผ่นกระดาษแล้วใช้ดินสอระบายบนรอยนูนของเหรียญเพื่อให้ลวดลายของเหรียญชนิดนั้นๆ ปรากฏขึ้นบนกระดาษ แล้วให้ลูกสังเกตว่าแต่ละเหรียญต่างกันอย่างไร พร้อมบอกมูลค่าของเหรียญชนิดนั้นๆ ก่อนจะให้ลูกหยิบเหรียญมาจับคู่กับรูปที่ปรากฏบนกระดาษ สำหรับธนบัตร อาจใช้กระดาษสีมาตัดและเขียนมูลค่าที่เท่ากับธนบัตรจริงๆ แล้วให้ลูกได้จับคู่ของจริงกับกระดาษสีที่ตัดไว้ เช่น ใช้กระดาษสีเขียวแทนแบงค์ยี่สิบ สีแดงแทนแบงค์ร้อย เป็นต้น

            สอนลูกวัย 4-5 ปี หนูน้อยวัยนี้ชื่นชอบการเล่นบทบาทสมมติและโตพอที่จะเข้าใจเรื่องมูลค่าของเงินบ้างแล้ว ชวนลูกเล่นซื้อของขายของ โดยสลับให้ลูกเป็นทั้งคนขายและคนซื้อ ใช้เงินของเล่นในการจับจ่าย เปิดโอกาสให้ลูกได้ตั้งราคาสินค้าและเลือกซื้อของในงบที่กำหนด นอกจากนี้ เวลาที่ออกไปซุปเปอร์มาร์เก็ตซื้อของเข้าบ้าน ลองเปิดโอกาสให้ลูกได้ช่วยจดรายการของที่จะซื้อ และให้ลูกได้ลองดูป้ายราคา เพื่อเปรียบเทียบซื้อสินค้าที่คุ้มค่ามากที่สุดคุณพ่อคุณแม่อาจต้องเหนื่อยในการพูดอธิบาย แต่ลูกจะได้ซึมซับเรื่องการรู้จักใช้เงินและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้เมื่อเขาโตขึ้น

            สอนลูกวัย 6 ปีขึ้นไป นอกจากจะชวนลูกไปซื้อของด้วยกันเหมือนกับการสอนลูกวัย 4-5 ปีแล้ว คุณควรเริ่มปลูกฝังนิสัยรักการออม และฝึกให้ลูกรู้จักวางแผนการใช้เงินด้วยตัวเอง โดยให้เงินค่าขนมลูกในจำนวนที่แน่นอน ไม่ว่าจะให้เป็นรายวัน หรือรายสัปดาห์ สอนให้ลูกลองวางแผนเพื่อใช้จ่ายเพื่อให้มีเงินเหลือเก็บ เมื่อครบเดือนแรก ลองนั่งคุยกับลูกว่าลูกวางแผนอย่างไร และมีเงินเก็บเท่าไร คอยให้คำแนะนำ และกำลังใจ ระวังที่จะไม่วิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินการกระทำของลูกด้วยคำพูดในแง่ลบ เมื่อลูกออมเงินได้จำนวนหนึ่ง ชวนลูกนำเงินไปฝากธนาคารอธิบายถึงความสำคัญของการออม เปิดบัญชีในชื่อลูก ให้เขาเก็บรักษาสมุดบัญชีของตัวเอง ลูกจะเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

“การทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น ที่จะให้เป็นไปโดยราบรื่น ปราศจากปัญหาข้อขัดแย้ง ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะคนจำนวนมากย่อมมีความคิดความต้องการที่แตกต่างกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ท่านจะต้องรู้จักอดทนและอดกลั้น ใช้ปัญญา ไม่ใช้อารมณ์ ปรึกษากัน และโอนอ่อนผ่อนตามกันด้วยเหตุผล โดยถือว่าความคิดที่แตกต่างกันนั้น มิใช่เหตุที่จะทำให้เป็นข้อขัดแย้ง โต้เถียง เพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน แต่เป็นเหตุสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ทั้งในวิถีทางและวิธีการปฏิบัติงาน”

พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๑

 

สอนลูกยอมรับความแตกต่าง อยู่อย่างเข้าใจ

            ในสังคมเรานั้นมีความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมยุคใหม่ ที่ทุกส่วนในโลกเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างง่ายดาย ความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ และทัศนคติต่างๆ แม้จะเป็นสิ่งธรรมดาที่มีอยู่ในสังคมมาช้านาน แต่เมื่อโลกที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันความแตกต่างเหล่านี้ก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องเผชิญกับความแตกต่างหลากหลายในด้านต่างๆ ในสังคมทุกๆ วัน ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะยอมรับและเข้าใจความแตกต่างเหล่านั้นคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

            หน้าที่ของพ่อแม่คือการเตรียมลูกให้พร้อมที่จะอยู่ในสังคมที่หลากหลายนี้ด้วยความเข้าใจ เพื่อที่ลูกน้อยจะสามารถทำงานและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นและช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิตได้ในที่สุด ในภาษาอังกฤษมีคำว่า Tolerance ซึ่งหมายถึงทัศนคติที่เปิดกว้างและมีความอดทนอดกลั้น ยอมรับความแตกต่างของปัจเจกบุคคล นอกจากนี้ยังหมายถึงการเรียนรู้จากผู้ที่แตกต่างจากเรา ให้เกียรติและให้คุณค่ากับความคิดความเชื่อประเพณี วัฒนธรรมที่แตกต่าง และการหาจุดกึ่งกลางความสมดุลในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

            การสอนลูกให้เข้าใจและรับมือกับความแตกต่างนั้น หัวใจสำคัญต้องเริ่มจากคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกค่ะ เริ่มต้นง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การไม่วิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียน รูปลักษณ์ของคนอื่นที่ไม่เหมือนเรา ไม่ให้คุณค่ากับภาพลักษณ์ภายนอกมากกว่าความสำคัญของจิตใจ จริงๆ การสอนเจ้าตัวน้อยในเรื่องนี้ เป็นเหมือนการปลูกฝังทัศนคติที่ทำได้ตั้งแต่ลูกยังแบเบาะ เพราะในทุกๆ วันลูกเฝ้ามองดูคุณเป็นแบบอย่างอยู่เสมอ เด็กเรียนรู้จากการเลียนแบบ ดังนั้น หากคุณต้องการให้ลูกมีแนวคิดในการดำรงชีวิตอย่างไร พ่อแม่เริ่มได้จากการเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น

  • สังเกตทัศนคติของตนเองอยู่เสมอพยายามอย่าใช้ทัศนคติแบบเหมารวม รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นในเรื่องการเคารพความแตกต่างหลากหลายในสังคม
  • ระลึกอยู่เสมอว่าลูกคอยฟังสิ่งที่คุณพูดอยู่เสมอ แม้ว่าคุณไม่ได้พูดกับเขาก็ตาม ระวังถ้อยคำและน้ำเสียงที่คุณใช้พูดถึงคนที่แตกต่าง ไม่ควรล้อเลียนภาพลักษณ์ของคนอื่นเพียงเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องตลก
  • เลือกหนังสือ เพลง หรือเรื่องราวตามสื่อต่างๆ อย่างระมัดระวัง อิทธิพลของสื่อต่อการหล่อหลอมทัศนคติของคนเรานั้นมีพลังมากกว่าที่เราคาดคิด
  • หาโอกาสสอนและอธิบายให้ลูกฟังว่าการล้อเลียนคนอื่นที่ต่างจากเราเป็นการไม่ให้เกียรติและไม่สุภาพ อีกทั้งยังทำร้ายความรู้สึกของคนที่ถูกล้อเลียนอีกด้วย เช่น ในรายการทีวีที่ล้อเรื่องสีผิว หรือน้ำหนักของบุคคล เป็นต้น
  • สร้างสังคมแห่งการให้เกียรติและยอมรับซึ่งกันและกันในครอบครัว ยอมรับความทักษะ ความชื่นชอบและสไตล์ที่ต่างกันของลูกแต่ละคน ให้คุณค่ากับความเป็นตัวของตัวเองของสมาชิกในครอบครัว
  • เปิดโอกาสให้ลูกได้พบปะผู้คน สังคมที่หลากหลาย ด้วยการพาลูกทำกิจกรรมต่างๆ เข้าค่ายฤดูร้อน หรือเป็นอาสาสมัครกิจกรรมเพื่อสังคม เป็นต้น
  • อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการยอมรับความแตกต่างนั้น ไม่ได้หมายถึงการยอมรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น คนที่รังแกคนอื่น แต่การยอมรับความต่าง คือการเข้าใจว่าคนทุกคนมีสิทธิได้รับการยอมรับ ปฏิบัติและให้เกียรติอย่างเท่าเทียมกัน

ในความโศกเศร้า คุยกับลูกอย่างไร

            การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ครั้งหนึ่งของชาวไทย บรรยากาศแห่งความโศกเศร้าที่ปกคลุมไปทั่วทั้งแผ่นดิน ย่อมส่งผลต่อประชาชนตัวน้อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคุณพ่อคุณแม่จำนวนไม่น้อย คงต้องคิดตอบคำถามลูกว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมแม่ถึงน้ำตาไหลทุกครั้งที่ดูข่าว ทำไม่คุณพ่อดูซึมๆ คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายก็ไม่สดใสเหมือนเดิม

            ผศ.พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ มีข้อแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครองในการพูดคุยกับลูกในเรื่องนี้ว่า ควรบอกลูกอย่างตรงไปตรงมา โดยเลือกใช้คำที่เด็กเข้าใจได้ง่ายๆ เช่น “ในหลวงกลับไปอยู่บนสวรรค์แล้ว แม่เสียใจเพราะจะไม่มีโอกาสได้เห็นท่านอีก” โดยไม่ต้องอธิบายให้ซับซ้อน เพราะเด็กเล็กยังไม่เข้าใจเรื่องความตายมากนัก ในกรณีที่คุณแม่หรือสมาชิกในครอบครัวมีความโศกเศร้ามาก บรรยากาศในครอบครัวมีแต่ความหม่นหมอง เด็กๆ อาจรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย เพราะผู้ใหญ่มีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไป คุณควรให้ความมั่นใจกับลูก รวมทั้งทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ กับลูกให้เป็นปกติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

พ่อแม่อาจใช้โอกาสนี้อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อเศร้าโศกร้องไห้แล้วก็ต้อง จัดการกับอารมณ์ของตัวเองและดำเนินชีวิตต่อไป เล่าให้ลูกฟังถึงพระราชกรณียกิจของในหลวง ความดียิ่งใหญ่ที่ท่านทรงทำให้กับประชาชน ทำให้ท่านทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย เมื่อท่านเสด็จสู่สวรรคาลัย ทุกคนจึงเสียใจมาก บอกลูกว่าการทำความดีนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และถึงแม้ว่าผู้ที่ทำดีนั้นจะจากไป แต่ความดียังคงอยู่ในคนรุ่นหลังได้ระลึกถึงเสมอ พญ.ปราณี กล่าวทิ้งท้าย

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook