"การได้รับเลือดสำหรับหนูมันเหมือนเป็นยาวิเศษ" ความในใจจากอดีตผู้ป่วยมะเร็งวัยรุ่น

"การได้รับเลือดสำหรับหนูมันเหมือนเป็นยาวิเศษ" ความในใจจากอดีตผู้ป่วยมะเร็งวัยรุ่น

"การได้รับเลือดสำหรับหนูมันเหมือนเป็นยาวิเศษ" ความในใจจากอดีตผู้ป่วยมะเร็งวัยรุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ตอนที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ในหัวคิดตลอดว่า ทำไมต้องเกิดกับเรา ตอนนั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว” เตย วันทนีย์ พิทยานุรักษ์ เด็กสาววัย 21 ปี พูดด้วยเสียงสั่นเครือ พร้อมๆ กับน้ำตาที่ค่อยๆ ไหลอาบแก้ม ทั้งที่เมื่อไม่กี่นาทีก่อนหน้านี้ เธอเพิ่งยกมือไหว้และทักทายพี่ๆ หลายคนที่เธอเพิ่งเจอเป็นครั้งแรกด้วยใบหน้ายิ้มแย้มก่อนที่บทสนทนาจะเริ่มขึ้น

ท่าทางของเธอที่ออกมาจากความรู้สึกจริงๆ ทำให้รู้ว่า คำว่า ‘มะเร็ง’ คงยังเป็นเหมือนฝันร้ายที่เธอยังจำได้แม่นและกลัวว่าสักวันจะฝันถึงสิ่งนี้อีกครั้ง ไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่ปีแล้วก็ตาม

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน เตยก็เป็นเหมือนเด็กวัยรุ่นอายุ 17 ปีธรรมดาคนหนึ่งที่กำลังอยู่ในช่วงเตรียมสอบปลายภาค แต่อาการปวดท้องที่เธอบอกว่า “ปวดจนทนไม่ไหว” ที่เกิดขึ้นกลางดึกคืนหนึ่งทำให้เธอรู้ว่ามีก้อนเนื้อขนาด 9 ซม. อยู่ในมดลูก

หลังจากแพทย์ตัดสินใจผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้อออก สิ่งที่เธอได้รู้หลังจากนั้นก็คือ ร่างกายของเธอไม่ได้มีแค่เนื้องอกในมดลูกเท่านั้น แต่ยังมีมะเร็งต่อมน้ำเหลืองพ่วงมาอีกด้วย

“ตอนที่หมอบอกว่าน้องเป็นมะเร็ง ทั้งที่เรารู้ว่าผลการตรวจไม่ผิด แต่ด้วยความที่เราไม่อยากเชื่อ ก็เลยไปถึงสถาบันที่เขาส่งชิ้นเนื้อไปตรวจ ไปถามผลด้วยตัวเอง” ตั๊ก-วิลาสินี พิทยานุรักษ์ พี่สาวคนโต พูดถึงเรื่องที่เธอไม่เคยเล่าให้น้องสาวฟังมาก่อน

ในตอนแรก ครอบครัวของเตยเลือกที่จะปิดบังความจริงกับเจ้าตัวและซื้อเวลาด้วยการบอกว่ายังรอผลจากโรงพยาบาลอยู่ กระทั่งถึงจุดที่ไม่สามารถปิดบังต่อไปได้อีกแล้วเพราะต้องเริ่มเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด จึงถึงเวลาบอกความจริงที่ทำให้เตยอดไม่ได้ที่จะน้อยใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

เตยต้องหยุดเรียน 1 ปีเต็มระหว่างที่รักษาตัว เคมีบำบัดครั้งที่ 1 มาพร้อมกับอาการปวดกระดูกทั้งตัวและผมร่วง จนเธอต้องออกปากให้พี่สาวช่วยตัดผมให้

“ตอนที่ตัดผมให้น้องก็มัดผมน้องแล้วก็ยืนตัดจากข้างหลัง ตัดไปก็ร้องไห้ไป เพราะพอจับผมเขา ผมก็ติดมือออกมา แต่ก็ต้องพยายามไม่อ่อนแอให้เขาเห็น เพราะถ้าเขาเห็นเราร้องไห้ คนที่จะอ่อนแอที่สุดก็คือเขา เราเลยต้องพยายามรักษาความรู้สึกตัวเองให้แข็งแรงกว่า เพื่อว่าเวลาที่เขาร้องไห้ เขาจะสามารถหันมาหาเราได้” พี่สาวคนโตเล่าถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น

การให้เคมีบำบัดครั้งแรกผ่านไปด้วยความเจ็บปวด แต่ยังเทียบไม่ได้กับครั้งที่ 2 ที่เธอเกิดอาการแพ้จนแพทย์ต้องตัดสินใจให้เลือด ก่อนที่อาการของเธอจะหนักไปมากกว่านี้

“คีโมของหนูหมอจะให้เดือนละครั้ง แล้วให้ยาสลับกันไปในแต่ละเดือน ปรากฏว่าหนูแพ้ยาตัวที่ 2 อาการแพ้คือเวียนหัวมาก เม็ดเลือดก็ต่ำ กินอะไรก็ไม่ได้เลย จนต้องให้เลือด หนูนั่งให้เลือดอยู่อย่างนั้น 8 ชั่วโมงจนหมด 2 ถุง ทำอะไรไม่ได้เลย แต่พอได้เลือดแล้วก็ดีขึ้น” เตยยังเล่าอีกว่า ยาที่ต้องกินประกอบกับการรักษาเวลาแพทย์ให้เคมีบำบัดตัวนี้นับได้มื้อละ 85 เม็ด จนต้องใช้ทั้งวิธีกินแยกและวิธีละลายน้ำแล้วกินรวมกันทีเดียวสำหรับกรณีที่เป็นยาชนิดเดียวกัน

เมื่อผ่านช่วงเวลานั้นมาได้แล้ว พอมองย้อนกลับไป เตยมองเห็นด้านดีของเรื่องนี้ว่า “จากที่แต่ก่อนเป็นคนไม่ยอมกินยาเม็ดเลย เม็ดเดียวก็ต้องเอามาละลาย แล้วกินน้ำแดงตาม ขมแค่ไหนก็จะกินแบบนี้ ตอนนี้กลายเป็นว่ากินยาเม็ดได้สบายแล้ว”

ผ่านการรักษาไปได้สักระยะ ถึงร่างกายจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ความรู้สึกบั่นทอนจิตใจเริ่มเกาะกิน และเป็นอีกเรื่องที่เธอต้องต่อสู้กับมันนอกเหนือไปจากอาการป่วยโดยตรง

“ตอนให้ยาไปประมาณ 4-5 เดือน หนูเริ่มท้อ หนูอยากแข็งแรงเหมือนคนอื่น รู้สึกต้องพึ่งคนอื่นตลอดเวลา จนแอบร้องไห้คนเดียวบ่อยๆ”

“แล้วช่วงที่ให้คีโม หนูจะหงุดหงิดง่ายมาก เหวี่ยงใส่แม่ เหวี่ยงใส่พี่ เขาเดินจูงมือข้ามถนน หนูก็สะบัดมือใส่แล้วก็บอกว่าอย่ามาจับ คือใครทำอะไรก็หงุดหงิดไปหมด แต่ทุกคนก็ยังอดทนเพื่อหนู ยังทำนู่นทำนี่ให้ ยังให้กำลังใจ หนูก็เลยรู้สึกว่าแม่กับพี่ๆ เขายังทำเพื่อเราได้ เราก็ต้องอยู่เพื่อเขาให้ได้” เมื่อคิดอย่างนั้นได้ ใจของเธอก็กลับมาสู้อีกครั้ง ทันเวลาก่อนที่จะเจอมรสุมครั้งใหญ่ที่เธอผ่านมาได้ส่วนหนึ่งก็เพราะ ‘เลือด’ จากคนอื่น

ก่อนจะให้เคมีบำบัดครั้งสุดท้าย เตยมีเลือดไหลออกตามไรฟันและตัวซีดโดยไม่รู้สาเหตุ เมื่อไปโรงพยาบาลจึงรู้ว่าร่างกายติดเชื้อในกระแสเลือดและติดเชื้อในปอดพร้อมกัน จนต้องรักษาตัวในห้องไอซียูนานเกินสัปดาห์

ความรุนแรงของอาการติดเชื้อในขณะนั้นบอกได้จากผลเลือด เพราะปริมาณเม็ดเลือดขาวรวมที่ควรจะอยู่ประมาณ 4,000 – 10,000 เซลล์ต่อเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร ลดลงไปเหลือเพียง 90 เซลล์เท่านั้น เกล็ดเลือดเองก็อยู่ในสถานะไม่ต่างกันเท่าไร จนเป็นเหตุผลของการได้รับเลือดครั้งที่ 2 ในชีวิต

“ตอนอยู่ไอซียู รอบตัวหนูมีทั้งถุงน้ำเกลือ ถุงเลือด ถุงเกล็ดเลือด ปอดก็โดนเจาะเพื่อเอาน้ำออก หนูลุกเดินไปไหนไม่ได้เลย ได้อาหารทางสายยางก็สำลัก น้ำหนักตัวลดจาก 43 เหลือ 36 ต้องให้ยาฆ่าเชื้อตลอด แล้วก็ไม่ค่อยรู้สึกตัว”

“แต่เวลาได้รับเลือด หนูจะรู้สึกได้นะ ตอนที่เลือดเข้าไปในเส้นเลือด หนูจะรู้สึกเย็น การได้รับเลือดสำหรับหนูมันเหมือนเป็นยาวิเศษอย่างหนึ่งที่รู้สึกได้มากกว่ายาเม็ด พอให้ปุ๊บ ผ่านไปสักวันเดียวเราก็รู้สึกดีขึ้นแล้ว จากตอนนั้นที่หนูตัวซีด มือไม่มีสีอะไรเลย พอได้รับเลือดแล้วก็กลับมาดูสดใสขึ้น” เตยเล่าถึงช่วงเวลาที่หนักหนาที่สุดในชีวิต ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะผ่านช่วงเวลานี้มาได้อย่างปลอดภัยและแข็งแรงพอที่จะรับการรักษาเคมีบำบัดเข็มสุดท้ายต่อเนื่องไปโดยไม่ต้องเว้นระยะ

ด้วยการรักษาจากแพทย์ กำลังใจจากคนรอบข้าง และการดูแลของคนรอบตัว โดยเฉพาะพี่สาวคนโตที่ลาออกจากงานมาเป็นเสาหลักในการดูแลน้อง คอยตื่นตั้งแต่ตีสี่เพื่อขับรถไปโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง แบ่งเบาภาระแม่ในการดูแลน้องคนเล็กอย่างเต็มกำลัง ทั้งยังเข้าครัวทำอาหารที่น้องอยากกินให้ทุกครั้งที่น้องออกปาก เตยก็แข็งแรงพอที่จะกลับไปเรียนพร้อมเพื่อนรุ่นเดียวกันได้อีกครั้ง

“ตอนกลับไปเรียนอีกรอบนี่ตื่นเต้นมาก เพราะหนูอยู่บ้านอยู่ 1 ปี มีทำข้อสอบของที่โรงเรียน มีเพื่อนมาเยี่ยมบ้าง แต่ก็ไม่ได้ไปนั่งเรียนกับเพื่อน พอได้กลับไปเรียนก็เลยดีใจ ตอนนั้นก็เข้ามหาวิทยาลัยปี 1 พอดี” พอพูดถึงเรื่องนี้ หน้าตายิ้มแย้มของเธอก็กลับมาอีกครั้ง

เช่นเดียวกับตอนที่เธอเล่าความฝันของเธอให้ฟังว่า “ถ้าเรียนจบ หนูอยากเปิดร้านกาแฟของตัวเอง อยากมีร้านแบบที่ชิลล์ๆ น่านั่ง หมอบอกว่าถ้าภายใน 5 ปีโรคมะเร็งไม่กลับมาอีก หนูจะหายขาด แต่ถ้ากลับมาอีกก็จะรักษายากแล้วเพราะร่างกายจะดื้อยา ตอนนี้เหลืออีกแค่ปีเดียว ก็ต้องสู้ ต้องอดทนต่อไป ตอนนี้หนูก็นับถอยหลังให้ผ่านปีสุดท้ายนี้ไปได้ จะได้ทำอะไรที่ตัวเองยังทำไม่ได้ อยากลุย อยากไปที่นู่นที่นี่เหมือนคนอื่นๆ บ้าง”

ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ร่างกายจะแข็งแรงขึ้นกว่าเมื่อไม่กี่ปีก่อน น้ำหนักตัวและสภาพร่างกายของเธอก็ยังไม่ดีพอที่จะทำให้เธออยู่ในสถานะ ‘ผู้ให้’ ได้ แต่เพราะเป็น ‘ผู้รับ’ มาก่อน เธอจึงรู้ว่าเลือดที่มีคนบริจาคนั้นช่วยต่อชีวิตของคนที่ต้องการได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่มีเพื่อนถามความเห็นของเธอเรื่องบริจาคเลือด เธอจึงมักจะตอบว่า

“เวลาเพื่อนถามเรื่องนี้ หนูจะบอกว่า บริจาคดิ บางทีเลือดที่มึงบริจาคน่ะ สักวันอาจจะมาอยู่ในตัวกูก็ได้นะ”

ร่วมบริจาคเลือดเพื่อต่อชีวิตให้กับคนอื่นอีกมากในแคมเปญ #MissingtypeTH ในวันที่ 30 ตุลาคม 2559 ที่สภากาชาดไทย ตั้งแต่เวลา 8.30 – 15.00 น. เพื่อเพิ่มปริมาณเลือดในคลังเลือดที่ลดลง สวนทางกับความต้องการใช้เลือดที่จะเพิ่มขึ้นในทุกปี ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sanook.com/missingtypeth

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook