เปิดประวัติศาสตร์แฟชั่นชุดราตรีของสตรีหมายเลข 1 ที่แฝงเรื่องการเมืองไว้มากที่สุด!

เปิดประวัติศาสตร์แฟชั่นชุดราตรีของสตรีหมายเลข 1 ที่แฝงเรื่องการเมืองไว้มากที่สุด!

เปิดประวัติศาสตร์แฟชั่นชุดราตรีของสตรีหมายเลข 1 ที่แฝงเรื่องการเมืองไว้มากที่สุด!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

First Ladies’ Fashion

ความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ชุดราตรีของเหล่าสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐอเมริกา​
เรื่อง: สธน ตันตราภรณ์

 

     ในจังหวะที่ทั่วทั้งโลกต่างตั้งตาคอยชมลุคทางการของ Melania Trump ในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งลำดับล่าสุด ซึ่งมีดีไซเนอร์รุ่นใหญ่ระดับเพชรยอดมงกุฎประจำวงการแฟชั่นอย่าง Karl Lagerfeld กับ Ralph Lauren เป็นรายชื่อหนุนหลัง สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยคือความสำคัญของ “แฟชั่น” ในฐานะของอิทธิพลทางความคิดที่มีบทบาทอย่างยิ่งยวดบนเวทีการเมือง ไม่เคยมีการช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งใดในประวัติศาสตร์โลก ที่อุตสาหกรรมแฟชั่นจะได้รับการจับตามองในวงกว้างเท่านี้

     ทั้งนี้ เราควรยกเครดิตงามๆ ให้กับ Hillary Clinton ผู้พ่ายแพ้ เพราะกลยุทธ์การหาเสียงก่อนหน้าของเธอทำให้ผู้คนทั่วไปเข้าใจเสียทีว่า “เสื้อผ้าหาใช่เสื้อผ้าอีกต่อไป” เมื่อโลกล่วงเลยเข้าสู่ปี 2017 และถัดจากนั้นเราควรหันไปเฝ้าระวังแบรนด์ Ivanka Trump ตาอย่าได้กะพริบ เพราะแม้ว่าผู้ก่อตั้งสาวชื่อเดียวกันกับแบรนด์จะขอรามือจากตำแหน่งหัวเรือใหญ่ เพื่อลบล้างข้อครหาในแง่การใช้อำนาจผลักดันธุรกิจส่วนตัวอย่างไร แต่ใครเล่าจะกล้ากล่าวหาเธอตรงๆ หากสัปดาห์หน้าเธอจะเลือกสวมดีไซน์ของตัวเองไปเดินเล่นอยู่ในทำเนียบขาวให้ยอดขายพุ่งเล่น

     แต่กว่าจะถึงตอนนั้น เราขอพาคุณย้อนอดีตกลับไปสัมผัสหลากลุคของอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในพิธีสาบานตน พร้อมๆ กับบอกเล่าถึงความนัยแฝงเร้นของชุดหนึ่งชุด...ที่อาจสลักสำคัญถึงขนาดสามารถคาดคะเนแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลสหรัฐฯได้

Mamie Eisenhower (1953)

     ไม่แปลกที่สื่อจะพากันโหมสร้างบทบาทเมียทหารในยุคหลังสงครามโลกของเธอให้กลายเป็น “ภาพลักษณ์อันแสนสุข” ของเหล่าอเมริกันชน และเธอก็ฉลาดพอที่จะขยับยิ้มนวลนุ่มอยู่บ่อยครั้ง พร้อมๆ ไปกับการปรากฏตัวในชุดสีชมพูแซลมอน “First Lady Pink” ประดับพลอยเทียมกว่า 2,000 เม็ด ที่เข้าคู่เป๊ะๆ กับถุงมือยาวและกระเป๋าคลัตช์

 

Jacqueline Kennedy (1961)

     ตลอด 4 งานสำคัญในช่วงวันสถาปนา เธอเลือกสวม 4 ชุดดีไซน์เรี่ยมโทนสีงาช้าง ซึ่งจงใจให้ตากล้องและผู้ชมทางบ้านสังเกตเห็นเธอได้ง่ายดายท่ามกลางคลื่นคนจำนวนมหาศาล สีและซิลูเอตของชุดยังกินความหมายถึงบทบาทเจ้าสาวแห่งทำเนียบขาวและย้ำเตือนถึงตำแหน่งสาวเดบูตองต์คนดังที่ก่อร่างสร้างชื่อให้เธอมาก่อน อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานชัดเจนว่าชิ้นงานต่างๆ ลอกเลียนมาจากผลงานจากห้องเสื้อดังคือ Dior และ Balenciaga อย่างตั้งใจ

 

Lady Bird Johnson (1965)

     เธอหลักแหลมในแง่สัญลักษณ์เมื่อเลือกหยิบเดรสสีเหลือง เพื่อสะท้อนถึงแสงส่องทางและทัศนคติแง่บวกในงานเฉลิมฉลองตำแหน่งของสามี ซึ่งประชาชนยังระทมทุกข์กับเหตุลอบสังหารประธานาธิบดีคนก่อน รูปแบบโครงชุดเรียบง่ายที่บ่งบอกความเป็นสตรีเท็กซัสตีแสกหน้าสไตล์ปารีเซียงของ Jacqueline แถมการเลือกใช้ดีไซเนอร์ขาประจำของ Marilyn Monroe ก็บุ้ยใบ้ถึงมิตรภาพหักเหลี่ยมโหดระหว่างเธอกับ Jacqueline ได้ชัดเจน

 

Pat Nixon (1969)

     ในขณะที่ Lady Bird มุ่งปองร้ายเพื่อนร่วมทำเนียบผ่านสัญลักษณ์ สีเหลืองอารมณ์ดีของ Pat คือการใช้สีเพื่อหลอมรวมพรรคการเมืองต่างขั้วในอุดมคติของเธอ รูปแบบชุดจากห้องเสื้อ Harvey Berin ซึ่งออกแบบโดย Karen Stark งดงามสมตำแหน่งและจงใจสื่อถึงการไม่ใช่กลุ่มนักการเมือง “ไฟไหม้ฟาง” ที่โดดเด่นเพียงวูบเดียว

 

 

Rosalyn Carter (1977)

     เธอสอยโค้ตยาวปักดิ้นทองแขนกุดกับเดรสชีฟองมาจากราวร้านเสื้อและเคยสวมมันมาก่อนแล้วในพิธีสำคัญ 6 ปีก่อนหน้า ก่อนจะหยิบมาซ้ำรอบสอง เพื่อส่งสัญญาณถึงวาระรัดกระเป๋าของชาติในช่วงวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันและเศรษฐกิจขาลง แต่กลับโดนจวกเละเป็นโจ๊ก โทษฐานที่ไม่เอาจริงเอาจังกับพิธีการระดับโลก

 

Nancy Reagan (1981)

     นี่คือคู่ประธานาธิบดีที่มีพื้นเพมาจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์และแทบไม่ต่างอะไรกับดาราฮอลลีวู้ด ทั้งในแง่รัศมี แง่สไตล์หรือแม้แต่การเล่นสื่อ ด้วยเหตุนี้ ชุดราตรีไหล่เดี่ยวโดย James Galanos ซึ่งกำลังมาแรงในฐานะช่างเสื้อชั้นสูงที่น่าจับตามองมากที่สุดแห่งยุคจึงช่วยให้เธอเลื่อนขั้นไปเป็นราชินีคนใหม่แห่งคาเมลอตได้ไม่ยากนัก ในจังหวะที่ราชวงศ์สมมติจากซีรี่ส์ Dynasty กำลังครองจอ

 

Barbara Bush (1989)

     เหตุผลเดียวที่เธอเลือกชุดราตรีผ้ากำมะหยี่และทัฟต้าสีน้ำเงินสดจาก Arnold Scassi ซึ่งเป็นสีขั้วตรงข้ามกับสีแดงของพรรคการเมืองของสามีนั้นเป็นเพราะเธอตั้งใจประกาศจุดยืนที่จะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจนชัดเจนเกินไป...เช่นเดียวกับนโยบายชนะการเลือกตั้งของสามี

 

Hillary Clinton (1993)

     เธอคือหลังบ้านผู้วางแผนทุกสิ่ง ตั้งแต่ชุดราตรีสีม่วงซึ่งเกิดจากการผสมสีหลักของ 2 พรรคการเมืองคือน้ำเงินและแดงเข้าด้วยกัน แถมยังแฝงนัยถึงราชวงศ์และอำนาจ ในขณะที่ชิ้นงานฝีมือดีไซเนอร์โนเนม Sarah Phillips สลักสำคัญที่พื้นเพที่มาคือบูติกเล็กๆ ในรัฐอาร์คันซอ ซึ่งเปรียบได้กับจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเมืองและชีวิตคู่ของเธอกับ Bill Clinton อย่างไรก็ตาม โค้ตเคปสีทองฝีมือ Oscar de la Renta ในงานเลี้ยงสถาปนาสมัยที่ 2 ซึ่งลอกแบบมาตรงๆ จากของ Jackie Kennedy กลับทำให้ชาวอเมริกันเริ่มแคลงใจในตัวตนที่แท้จริงของเธอ

 

Laura Bush (2001)

     ใครจะเกลียดจะชังสามีลูกทุ่งของเธออย่างไร แต่เราให้ความซื่อสัตย์และชัดเจนของเธอ เพราะในจำนวนชุดราตรีทางการทั้งหมดที่ลึกลับเหลี่ยมเล่ห์กล เธอคนนี้กลับเลือกนำเสนอความเถรตรงผ่านสีประจำพรรคของผู้เป็นสามีและรูปแบบโครงเสื้อแสนอนุรักษ์นิยม ซึ่งแตะขั้วหัวใจอเมริกันชนหมู่มากได้อย่างไร้ที่ติ

 

Michelle Obama (2008)

     การเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผิวสีรายแรกสอดคล้องกับตัวเลือกชนชายขอบอย่าง Jason Wu นักออกแบบคานาเดียนเชื้อสายไต้หวันโนเนม (ในขณะนั้น) เธอปฏิวัติหลากหลายธรรมเนียมทั้งการทำงานในทำเนียบขาวถึงสไตล์ของหญิงสาวอเมริกัน เรือนแขนเปลือยเปล่าซึ่งเลยล่วงไปถึงรักแร้กลายเป็นอวัยวะที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งมั่นใจ เช่นเดียวกับการผันพิธีการใหญ่ให้กลายเป็นงานแต่งงานแสนโรแมนติกและนิยามแห่งความหวังของชาติ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook