EXCLUSIVE! พระองค์หญิงฯ ประทานสัมภาษณ์พิเศษถึงคอลเล็กชั่นล่าสุดกับบรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก

EXCLUSIVE! พระองค์หญิงฯ ประทานสัมภาษณ์พิเศษถึงคอลเล็กชั่นล่าสุดกับบรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก

EXCLUSIVE! พระองค์หญิงฯ ประทานสัมภาษณ์พิเศษถึงคอลเล็กชั่นล่าสุดกับบรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โค้งสุดท้ายก่อนคอลเล็กชั่นทรงออกแบบประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2017 จะปรากฏโฉมอย่างเต็มรูปแบบ ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ในค่ำวันพุธนี้ กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร โว้ก ประเทศไทย ขอประทานสัมภาษณ์พิเศษ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ถึงที่มาที่ไปของคอลเล็กชั่นล่าสุด ซึ่งทรงสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นอย่างวิจิตรบรรจง โดยทรงผูกแรงบันดาลใจเข้ากับบทพระนิพนธ์เรื่องราวความรักระหว่างคนและเทพธิดาแห่งท้องทะเล

จำนวนเสื้อผ้าทั้งสิ้น 54 ลุคที่ผสมผสานชิ้นงานสำหรับสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษภายใต้แบรนด์ SIRIVANNAVARI และ S’Homme ในฤดูกาลนี้โดดเด่นที่ความเรียบง่าย หาก “ซ่อนเทคนิคที่ซับซ้อนและรายละเอียดอันหลากหลาย” เอาไว้ ตั้งแต่การจับเดรปผ้าเจอร์ซี่สไตล์เทพธิดากรีก เรื่อยไปจนถึงเทคนิคการพิมพ์ผ้าแนว Wood Cut ของญี่ปุ่น และที่ขาดไม่ได้คือเทคนิคงานปักเลื่อมลูกปัดแสนบางเบา ที่ได้ ประยุทธ ศิริกุล ผู้เชี่ยวชาญสายงานปัก ศิษย์งานช่างไทยของอาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ และศิษย์เก่างานช่างฝรั่งเศสจากสถาบัน Lemmikko: Artisan de la Broderie d'Art แห่งกรุงโตเกียว มาถวายงานอย่างใกล้ชิด ร่วมด้วยช่างฝีมืออีกหลายชีวิต
 
เทพนิยายความรักระหว่างเทพธิดาแห่งท้องทะเลกับชายหนุ่มปุถุชนซึ่งเป็นต้นแบบของคอลเล็กชั่นล่าสุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอะไร
ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการที่ตัวเองได้ไปทะเลตอนช่วงปีใหม่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาและได้มีโอกาสขึ้นไปบนดาดฟ้าเรือและเห็นพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งทำให้รู้สึกดี สีสันก็สวย เลยทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ต้องเข้าใจว่าช่วงพระอาทิตย์ตกดินกับเวลากลางคืนของบ้านเราจะให้อารมณ์ที่ต่างกันกับของยุโรป พอกลับไปเมืองนอกก็นึกย้อนกลับไปถึงคอลเล็กชั่น The World Is Not Enough จากปี 2006 ของตัวเอง เราอยากทำอะไรสไตล์นั้นอีก แต่คราวนี้ต้องจี๊ดกว่า ต้องโตขึ้น ต้องทันสมัย และยังคงความเฟมินีนไว้ หลังจากนั้นพอมีจังหวะว่างจากการขี่ม้า จึงเริ่มใช้เวลาสังเกตธรรมชาติรอบตัวเวลาเดินทางไปประเทศต่างๆ ทั้งกรีซเอย ทางใต้ของฝรั่งเศสเอย และพบว่าแม้จะฟ้าเดียวกัน ดาวดวงเดียวกัน แต่ความรู้สึกที่สัมผัสได้กลับไม่เหมือนกัน ทั้งหมดนั้นเราจึงนำมาเรียบเรียงและนำเสนอใหม่ผ่านเรื่องราวที่เราจินตนาการขึ้นเองจนเกิดเป็นคอลเล็กชั่นนี้

ศิลปะการปักเลื่อมและลูกปัดแลดูมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์ชิ้นงานในคอลเล็กชั่นนี้ เพราะเหตุใดพระองค์จึงเน้นหนักในงานช่างสายดังกล่าว
เพราะเราอยากจะพัฒนางานฝีมือจากรูปแบบเดิมๆ ให้คนได้เห็นอะไรใหม่ๆ ที่แปลกตามากขึ้น ครั้งนี้เราใช้เทคนิคโครเชต์บนสะดึงแบบฝรั่งเศส ซึ่งเนี้ยบมากและในขณะเดียวกันก็แลดูบางเบาทันสมัย ผิดกับสไตล์เสื้อผ้าชั้นสูงแบบก่อนๆ ที่ติดเชย คืองานในครั้งนี้นอกจากจะวิจิตรแล้ว ยังช่วยเสริมโครงทรงและสีสันของเสื้อผ้าด้วย ยากขึ้นมาอีกมิติหนึ่งเลยล่ะ

จากภาพถ่ายจะเห็นว่ามีการนำเอาบทกลอนท่อน My waiting maybe everlasting, my longing is full of melancholy beyond imagination มาปักเป็นส่วนประกอบ พระองค์ทรงโปรดบทกลอนท่อนนี้เป็นพิเศษหรือไม่ เพราะเหตุใด
ใช่ เพราะมันคือการรอคอยไง...คนที่เชื่อมั่นในความรักมักจะมีศรัทธานะ ไม่ว่าการรอคอยจะยาวนานสักแค่ไหนก็ตาม คอลเล็กชั่นนี้โดดเด่นในเรื่องของความบางเบา เราก็อยากจะนำเสนอความบอบบางนี้ผ่านบทกวีที่อ่อนหวาน แต่ในขณะเดียวกันต้องสามารถโชว์พลังของผู้หญิง พลังของความรัก พลังของการรอคอย และพลังของความเชื่อมั่นไปพร้อมๆ กันได้ เลยเลือกท่อนนี้มา และอีกอย่างคือเราไม่ค่อยเห็นนักออกแบบนำบทกวีมาปักลงบนเสื้อผ้า ซึ่งโจทย์หลักของเราคือต้องทำให้บางเบาได้จริง มันจะได้ให้สัมผัสที่เซนสิทีฟ

อยากให้พระองค์ทรงเล่าถึงสำนักช่าง Sirivannavari School ว่ามีความเป็นมาอย่างไร
เราอยากส่งเสริมบุคลากรรุ่นใหม่ อยากให้เขาได้รู้จักกับงานฝีมือแบบใหม่ๆ คือบ้านเราเก่งเรื่องแรงงานนะ แต่อาจจะติดอยู่กับวิธีการแบบดั้งเดิม มันอาจจะขาดด้านความคิดสร้างสรรค์ไป เราเองอยากจะผลักดันให้ช่างในบ้านเราเก่งหมดทุกส่วนคือแรงงาน ฝีมือ เทคนิค และความคิดสร้างสรรค์ ที่นี่จึงสอนเขาทุกอย่างตั้งแต่การวางลาย สอนให้เขารู้จักต่อยอดไปสู่ขั้นต่อๆ ไป และที่สำคัญคือทุกคนมีสิทธิ์ทดลองเพื่อค้นหาอะไรใหม่ๆ เราฝันเห็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีใจรักในศาสตร์เหล่านี้และมีส่วนช่วยกันพัฒนาศิลปะทุกๆ แขนงในบ้านเรา

อยากให้พระองค์ทรงอธิบายถึงเทคนิคการพิมพ์ผ้าแบบ Wood Cut ตามแบบฉบับของญี่ปุ่น ซึ่งพระองค์ทรงใช้เวลาสร้างสรรค์นานนับเดือน
Wood Cut เป็นกรรมวิธีการพิมพ์แบบโบราณของญี่ปุ่น เริ่มจากการนำไม้หรือแผ่นยางมาวางเส้นและแกะสลักด้วยมือ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการกลิ้งสี ฟังดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้วกินเวลาหลายขั้นตอน ใช้เวลานานและเหนื่อยมาก ทำเอาปวดไหล่ไปตามๆ กันเลยทีเดียว ส่วนตัวเราเชื่อว่าไม่มีเทคนิคไหนจะเหมาะกับคอลเล็กชั่นนี้ไปกว่า Wood Cut อีกแล้ว เพราะญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการประมง ท้องทะเล เกลียวคลื่น และถ้าเราสังเกตให้ดี ผลงานดังๆ อย่างรูปภาพหรืองานผ้าของญี่ปุ่นมากมายก็ล้วนใช้เทคนิคนี้ทั้งนั้น เราสนใจมากจึงลงไปศึกษาต่อและพบว่าเทคนิคแนวเดียวกันนี้ยังส่งอิทธิพลมายังศิลปะของยุโรปราวศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในฝรั่งเศส ที่ชัดมากๆ คือในยุคของ Claude Monet

พระองค์ทรงต้องการที่จะสื่อสารถึงตัวละครชายในเทพนิยายผ่านชิ้นงานในซับ-คอลเล็กชั่น S’Homme สำหรับสุภาพบุรุษใช่หรือไม่
อย่างที่ทราบกันคือ S'Homme เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว แต่คราวนี้กลับมาใหม่พร้อมความแข็งแกร่ง เราต้องการนำเสนอลุคสำหรับสุภาพบุรุษในความคิดของเรา ใส่ได้ทั้งหนุ่มเอเชีย หนุ่มยุโรป จะว่าไปแบรนด์ SIRIVANNAVARI เองก็แอบแฝงความเข้มแข็งแบบมาสคิวลินมานานแล้ว และซิลูเอตในคอลเล็กชั่นนี้ก็กลั่นกรองออกมาจากไอเดียของเราจริงๆ ผ่านการตีความที่พัฒนาขึ้นกว่าเดิม ถ้าถามถึงคาแรกเตอร์ของ S'Homme ผู้ชายคนนี้เป็นคนอบอุ่นนะ เขาเข้าใจอะไรหลายต่อหลายอย่าง และเซนสิทีฟมากๆ ด้วย
 
ได้มีโอกาสเห็นความงดงามของงานบิวตี้ ทั้งการแต่งหน้าและทรงผม พระองค์ทรงสร้างสรรค์ขึ้นจากแนวคิดใด
เนื่องจากคอลเล็กชั่นนี้เกี่ยวข้องกับท้องทะเล นางแบบของเราจึงอิงความเป็นแฟนตาซีค่อนข้างมาก ทั้งการแต่งหน้าและทำผมจะออกแนวนางเงือก มีเกล็ดและกากเพชรผสมผสาน รวมถึงคริสตัลของ Swarovski ด้วย ก็หวังว่าผู้ชมจะอินกับสิ่งที่เราตั้งใจนำเสนอ

ติดตามชมคอลเล็กชั่นทรงออกแบบประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2017 ได้ที่นี่ เร็วๆ นี้

 

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ EXCLUSIVE! พระองค์หญิงฯ ประทานสัมภาษณ์พิเศษถึงคอลเล็กชั่นล่าสุดกับบรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook