ออกแบบ ชุติมณฑน์ จาก นางแบบ สู่ นางเอกร้อยล้าน

ออกแบบ ชุติมณฑน์ จาก นางแบบ สู่ นางเอกร้อยล้าน

ออกแบบ ชุติมณฑน์ จาก นางแบบ สู่ นางเอกร้อยล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่อง: ณัฐพล ศรีเมือง
ภาพ: กิตตินันท์ จรรยางาม

 

ออกแบบ ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง นางแบบรุ่นใหม่ชื่อเก๋หน้าเฉี่ยว พกพาส่วนสูง 176 เซนติเมตรผันตัวเองมาเป็นนักแสดงอีกคน กับผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก 'ฉลาดเกมส์โกง' ของค่าย gdh ซึ่งเธอต้องรับบทนำเป็นเด็กสาวจีเนียสที่ชื่อว่า 'ลิน' จากการเดินสวยๆ บนรันเวย์แฟชั่น หรือโพสต์ท่านิ่งๆ ในปรินต์มีเดีย สู่การแอ็คติ้งหน้ากล้องที่ต้องใช้อารมณ์จากข้างใน เธอต้องพบเจอและได้เรียนรู้อะไรบ้างGM ไปพูดคุยกับเธอถึงความท้าทายใหม่ในชีวิตครั้งนี้

GM: อะไรคือความยากหรือความท้าทายของบทที่ได้รับ
ออกแบบ: บทที่ได้รับคือบท ‘ลิน’ เป็นเด็กจีเนียส มีฉลาดทางวิชาการสูงมาก พื้นฐานครอบครัวคุณพ่อคุณแม่แยกทางกัน ลินอยู่กับคุณพ่อที่เป็นครู เลยทำให้เด็กคนนี้ได้เผชิญโลกมาระดับหนึ่งจากครอบครัวที่มีปัญหา ด้วยเหตุนี้ลินจึงเป็นคนไม่เข้าหาคนอื่น แต่ด้วยความที่เป็นคนเก่ง ทุกคนก็จะเข้าหาลินตลอดเวลา

ออกแบบรู้สึกว่า บทนี้มีความยากง่ายในตัว แต่ด้วยความที่เป็นเรื่องแรกของเรา เลยรู้สึกว่ามันยากตรงที่เวลาแสดง เราต้องคีพคาแรกเตอร์ตัวละครนั้นให้ได้ทุกฉากทุกซีน ซึ่งก็จะมีหลุดบ้าง เลยเป็นส่วนที่คิดว่ายาก ส่วนตัวบทเอง รู้สึกว่ายากเฉพาะบางซีน กับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อกับเรา อย่างเช่นซีนไคลแมกซ์ที่ทุกคนจะต้องไปดูกันในโรง (หัวเราะ) จะมีซีนหนึ่งที่เราไปถ่ายทำที่ต่างประเทศ ซึ่งที่โน่นบังคับเรื่องเวลามาก พอใกล้หมดเวลาของสถานที่ที่เราดีลไว้ เขาจะเข้ามาบอกเลย ยูมีเวลาเหลืออีกแค่ 5 นาทีนะ แล้วต้องออกจากที่นี่เดี๋ยวนี้ ซึ่งเขาห้ามเกินเลย เราก็ต้องทำงานแข่งกับเวลาจริงและเวลาในเรื่องด้วย เพราะในเรื่องก็เป็นฉากแอ็คชั่นเหมือนกัน


GM: เมื่อต้องมาเล่นหนังเรื่องแรก ประสบการณ์ในการเป็นนางแบบ หรืองานแสดงโฆษณา เอ็มวี ที่ผ่านๆ มาช่วยได้เยอะมั้ย
ออกแบบ: สิ่งที่ได้จากการเป็นนางแบบ คือเราจะรู้มุมหน้าตัวเอง เวลาโพสต์ หรืออินเนอร์ในการแสดงออกทางสายตา ซึ่งอันนี้เราก็นำมาปรับนำใช้กับตัวละครในหนังได้ ส่วนเรื่องของประสบการณ์ที่ได้รับมาจากผลงานเก่า อย่างเช่นหนังโฆษณาของพี่เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) Thank you for sharing จะมีจุดหนึ่งที่ออกแบบบิวด์ตัวเอง เหมือนกับอินกับคาแรกเตอร์มากจนร้องไห้ออกมา เราก็นำความคิด การบิวด์ตัวเองตรงนั้นมาใช้กับเรื่อง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ มันทำให้เราลึกกับการแสดงมากขึ้น

ออกแบบอาจจะเคยเรียนการแสดงกับพี่ไก่ (วรายุฑ มิลินทจินดา) สั้นๆ เพราะว่าพี่ไก่เรียกตัวไป ซึ่งเรียนแค่นิดเดียว ถามว่าได้พื้นฐานมั้ย ก็ได้ จะเป็นเหมือนละคร มีความโอเวอร์แอ็คติ้ง ซึ่งทุกคนจะทราบดี มันคือดีดนิ้วปุ๊ป คนจะรู้ว่าคุณรู้สึกอะไร เพราะละครคือ ‘ข้างนอก’ ให้คนเห็นให้คนรู้สึกกับตรงนั้นทันที แต่ถ้าเป็นหนังมันคือ ‘ข้างใน’ เราต้องให้คนดูรู้สึกถึงข้างในของเรา ซึ่งสัมผัสได้เพราะว่าด้วยจอใหญ่ อารมณ์ หรือว่าซาวน์ต่างๆ มันคนละเวย์กัน ตอนที่เวิร์คช็อปครูที่เป็นแอ็คติ้งโค้ชยังบอกเลย ออกแบบไม่มีพื้นฐานการแสดงเลยนะ เพราะว่าเหมือนเป็นคนละเวย์แล้วเราประยุกต์ใช้ไม่เป็น เราก็เลยเหมือนต้องมาให้ครูค่อยๆ ปรับเราใหม่

GM: แล้วคิดว่าประสบการณ์จากการแสดงจะเอากลับไปใช้กับอาชีพนางแบบได้ยังไงบ้าง
ออกแบบ: ใช้ได้ในบางครั้ง เช่นถ้าแฟชั่นเซ็ตนี้อยากได้แบบดราม่า หรืออยากให้ถึงร้องไห้เลย แต่ถ้าเป็นเดินแบบอาจจะใช้ไม่ได้ ยกเว้นว่าจะให้เห็นเดินแบบเปรี้ยวๆ มีอินเนอร์ข้างใน มีจริตผู้หญิงเยอะๆ ก็จะใช้ได้


GM: ในแง่การทำงาน เป็นนักแสดงกับเป็นนางแบบ อันไหนกดดันกว่ากัน
ออกแบบ: ขอตอบตรงๆ เลยว่าหนังกดดันกว่า เพราะว่าเป็นเรื่องแรกของออกแบบด้วย แล้วความกดดันของเราคือไม่ใช่แค่ว่าเราเป็นตัวนำของเรื่องทั้งหมด แต่ด้วยความที่ว่า เราเป็นคนที่ใหม่ที่สุดของกลุ่ม 4 คน ซึ่งเราเกรงว่าจะเป็นตัวถ่วงเพื่อนๆ ตอนเวิร์กช็อปก่อนเข้าซีน มีอยู่ครั้งหนึ่งที่รู้สึกว่าวันนั้นทำได้ไม่ดีเลย เป็น ‘Bad day’ ทำยังไงก็ไม่ดี จนครูที่สอนแอ็คติ้งบอกว่า วันนี้พอแล้ว หมดเวลา ถามว่าวันนี้ออกแบบเป็นอะไร เราบอกกลัวว่าตัวเองจะเป็นตัวถ่วงเพื่อน ถ้าวันจริงต้องเล่นซีนนี้ต้องออกมาไม่ดีแน่ แล้ววันนั้นร้องไห้หนักมากจนเพื่อนบอกว่า ยูจะคิดอย่างนี้ไม่ได้ คือทุกคนมีวันแบดเดย์ นักแสดงทุกคนมีวันแบดเดย์ ไม่ใช่ว่าเก่งแค่ไหนแล้วจะไม่มี แต่คือคุณต้องมูฟออน อย่ามาคิดแต่ตรงนี้ ถ้าคิดแต่ตรงนี้ยูก็จะติดในใจติดตลอดว่าเล่นไม่ได้ๆ มันก็จะเล่นไม่ได้ เพื่อนๆ ก็จะปลอบหรือมีคำพูดที่ทำให้เราคิดอีกมุมหนึ่ง แล้วก็ทำให้เราก้าวต่อไปได้พร้อมๆ กัน


GM: การร่วมงานกับผู้กำกับ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ เป็นอย่างไรบ้าง
ออกแบบ: พี่บาสเป็นคนที่ค่อนข้างดึงศักยภาพของนักแสดงออกมาได้ดี เขาจะมีคำพูดว่า ผมได้สิ่งที่ผมต้องการแล้ว คุณอยากเล่นอะไรเล่น คือเขาอยากได้ ‘Magic’ ของนักแสดง ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก อย่างในทีเซอร์ จะเห็นว่ามีคำพูดหนึ่งที่เจมส์ (ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) พูดว่า ‘เราต้องเป็นคนเลือกมหา’ลัย ไม่ใช่มหา’ลัยเลือกเรา’ อันนั้นน่ะไม่มีอยู่ในบทเลย เจมส์เป็นคนอิมโพรไวซ์เองทั้งหมดในซีนั้น ซึ่งเป็นอะไรที่เมจิกมาก แล้วก็ไม่ใช่แค่เจมส์ที่ทำได้ คือทุกคนก็จะมีมุมของตัวเองที่ทำได้


GM: โดยภาพรวมแล้วคุณได้อะไรการเล่นหนังเรื่องนี้บ้าง
ออกแบบ: ได้เยอะมากจากประสบการณ์ในการเล่นหนังเรื่องแรก โดยเฉพาะเรื่องครอบครัว เพราะว่าเมื่อก่อนที่บ้าน ออกแบบเป็นลูกคนเล็กสุด แล้วเป็นผู้หญิง ก็จะสนิทกับคุณแม่มาก ไปไหนก็ไปกับคุณแม่ตลอด ซึ่งคุณพ่อจะสนิทกับพี่สาวคนโตกับพี่คนกลาง เพราะว่าเขาทำงานวิศวะ สถาปัตย์ อยู่ในกรุ๊ปเดียวกัน ก็จะคุยกันได้ แต่เราไม่ใช่ เราเป็นสายครีเอทีฟสายอาร์ต ซึ่งตัวละครลินต้องสนิทกับพ่อ แล้วถ้าออกแบบไม่สนิทกับพ่อจริงๆ เล่นแล้วมันก็จะมีความเคว้งข้างใน เลยทำให้เราพยายามที่จะเข้าไปคุยกับคุณพ่อมากขึ้น เข้าไปกอด เข้าไปหอมแก้มมากขึ้น จนตอนนี้สนิทเหมือนคุณแม่เลย ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ภูมิใจมากที่ได้รับมาจากหนังเรื่องนี้ แล้วก็อีกหลายๆ อย่าง เช่น ความคิดความอ่านของตัวละครแต่ละตัว ที่สอนเราให้เราโตขึ้น

GM: ในอนาคตมองสองอาชีพนี้ไว้ยังไง
ออกแบบ: ตอนนี้ที่วางไว้คือ ถ้าภาพของหนังออกไปแล้วผลตอนรับดี ภาพลักษณ์ของเราเองก็จะเปลี่ยนไปในมุมมองของคนอื่นด้วย คือมองว่าเราก้าวออกมาอีกขึ้นหนึ่งมากกว่าการเป็นนางแบบ คือเป็นนักแสดงแบบเต็มตัว ที่มีผลงานภาพยนตร์หนึ่งเรื่องเต็มๆ


GM: คิดว่าจะให้น้ำหนักกับอาชีพไหนมากกว่ากัน
ออกแบบ: คิดว่าจะให้น้ำหนักกับอาชีพนักแสดงมากกว่าค่ะ เพราะว่าท้าทายการใช้ชีวิตและการดำเนินชีวิตมากกว่า นักแสดงคือเราต้องทำทุกอย่างให้เต็มที่และเตรียมพร้อม มันกลับมาแก้ไม่ได้ อย่างการถ่ายทำที่ออสเตรเลยที่ออกแบบไป เราก็ไม่สามารถบินกลับไปได้ เพราะว่าด้วยค่าใช้จ่ายหรือว่าสถานที่ไม่ได้ขอกันได้ง่ายๆ ดังนั้นคือทุกวินาทีคุณต้องเต็มที่และคุณต้องทำมันให้ได้จริงๆ


GM: เรื่องการเรียนตอนนี้วางแผนว่ายังไง
ออกแบบ: ตอนนี้อยู่ปี 3 เทอมสอง ออกแบบเรียนเอ็กซิบิชั่นดีไซน์ (คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกนิทรรศการศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งอยู่อันเดอร์มาเก็ตติ้ง เลยคิดว่าถ้าจบปี 4 สักระยะหนึ่ง ถ้ารู้ระบบของมาร์เก็ตติ้งแล้วมีพอร์ตไปส่งได้ อาจจะเขยิบไปเรียนปริญญาโทด้านมาร์เก็ตติ้งเพิ่ม


GM: ในการทำงานที่ต้องเจอกับผู้คนหลากหลาย คุณมีวิธีปรับตัวให้งานออกมาราบรื่นยังไง
ออกแบบ: จริงๆ แล้วตอนแรกๆ ออกแบบก็ปรับตัวไม่ได้ค่ะ เหมือนเป็นคนเข้าสังคมไม่เก่ง มีความคล้ายบทลินตรงนี้ จนกระทั่งเราเลือกที่จะเข้าสังคมโดยเริ่มจากการพยายามทักคนอื่นก่อน ไหว้ผู้ใหญ่เป็นเรื่องมารยาททางสังคมปกติอยู่แล้ว ซึ่งเราก็ทำ แต่ว่าเราเพิ่มการพูดคุย การทักทาย การถามสารทุกข์สุขดิบ สวัสดีค่ะ สบายดีมั้ยคะ มันจะดีกว่าการที่สวัสดีค่ะ แล้วหยุดนิ่ง อันนี้คือการที่ออกแบบปรับตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ จนเราสามารถคุยกับคนอื่นได้มากขึ้น


GM: โดยส่วนตัวคุณมีอะไรเป็นแรงผลักดันในการใช้ชีวิต
ออกแบบ: จริงๆ มันคือความท้าทายของการทำงาน ของการเรียน ของบท โจทย์ของชีวิตที่ได้รับ อันนี้คือแรงผลักดันในแต่ละครั้งที่ดำเนินชีวิต ซึ่งแต่ละวันมันก็จะต่างกันไป คือเราไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้จะมีโจทย์อะไรมาให้เราทำ หรือว่าเราต้องปฏิบัติตัวยังไง จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งเราต้องทำทุกอย่างทุกวันให้ดีอยู่แล้ว ต้องตั้งใจกับมัน ไม่ใช่แค่งาน แต่ว่ากับทุกๆ เรื่อง


GM: แล้วเวลาเจอแบดเดย์ล่ะ
ออกแบบ: ด้วยความที่มีประสบการณ์จากหนัง ที่เพื่อนบอกว่ายูต้องมูฟออน หนูก็เลย-ขอใช้คำนี้นะคะ ‘ช่างแม่ง’ คือเราต้องตัดมันให้ได้ เพื่อทำสิ่งที่ดีกว่า ถ้าเราติดอยู่แค่ตรงนั้น ก็ทำให้เราจมกับมัน ไม่ได้ก้าวต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook