กล่องใส่อาหารพลาสติก / โฟม ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

กล่องใส่อาหารพลาสติก / โฟม ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

กล่องใส่อาหารพลาสติก / โฟม ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ภาชนะบรรจุอาหารพลาสติกเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างคาดไม่ถึง หากไม่ตระหนักและเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกใช้ ซึ่งอาจเกิดการปนเปื้อนสารอันตรายลงสู่อาหาร หรือเกิด ปฏิกิริยาเคมีระหว่างอาหารและภาชนะบรรจุ การเลือกใช้พลาสติก หรือโฟมต้องเลือกใช้ชนิดที่ไม่ทำปฏิกิริยากับอาหาร และเหมาะสมกับการใช้งาน

อันตรายที่เกิดจากสารเคมีของภาชนะบรรจุอาหาร มักไม่ได้รับความสนใจหรือเพิกเฉย เนื่องจากไม่ได้เกิดในทันทีทันใด แต่จะค่อยๆ สะสมจนเกิดอันตราย อาทิเช่น กล่องโฟมที่นำมาบรรจุอาหารที่ทอดร้อนๆ และมีน้ำมันขึ้นจากเตาใหม่ๆ จำพวกข้าวผัด ข้าวกะเพราไข่ดาว ผัดไทย หอยทอด ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถละลายสารบางชนิดออกจากกล่องโฟม และปนเปื้อนสู่อาหารได้ กล่องโฟมโดยปกติเมื่อได้รับความร้อนที่อุณหภูมิสูงประมาณ 160๐-220๐C จะทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์และมีการปล่อยสารโมเลกุลใหญ่ หรือสารประกอบบางชนิดออกมา อาจมีสารพิษที่มีผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว และสารบางอย่างจะสะสมในร่างกายก่อให้เกิดมะเร็งได้ ในกล่องโฟม (โพลิสไตรีน ; Polystyrene) เมื่อได้รับความร้อนสูงจะให้สาร 2 ชนิดคือ

1. สไตรีน (Styrene) ผลต่อร่างกายคือเมื่อถูกผิวหนังหรือเข้าตาจะทำให้ระคายเคือง หากสูดดมเข้าไปจะมีอาการไอ และหายใจลำบาก เพราะไปทำให้เยื่อเมือกเกิดความระคายเคือง ปวดศีรษะ ง่วงซึม อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลระบุความเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่เกิดมะเร็งได้ในสัตว์ทดลอง

2. เบนซิน (Benzene) สารที่มีความเป็นพิษสูงและเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งอาการของผู้ที่ได้รับเบนซินเข้าไปคือในระยะแรกๆ จะเกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ ถ้าดื่มหรือทานอาหารที่มีเบนซินปนเปื้อนอยู่สูง จะทำให้มีอาการปวดท้องเนื่องจากกระเพาะถูกกัดกร่อน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงนอน ชัก หัวใจเต้นแรง และอาจเสียชีวิตได้ เมื่อหายใจเอาเบนซินเข้าไปในระดับสูงและเป็นเวลานานอาจทำให้เซื่องซึม วิงเวียน หมดสติและใจสั่น อาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ และเมื่อสูดดมเป็นเวลานานจะทำให้เป็น โรคมะเร็งเม็ดเลือด (Leukemia) ได้การได้รับเบนซินเป็นเวลานานจะมีผลทำให้เป็น โรคโลหิตจาง (Anemia) เนื่องจากเบนซินจะเข้าไปทำลายไขกระดูก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้จำนวนเม็ดเลือดลดลงและทำลายระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายได้

นอกจากเบนซินและสไตรีนแล้ว ยังมี สารไวนิลคลอไรด์ (Vinylchloride) ที่ปนเปื้อนในพลาสติกพีวีซี ซึ่งสารตกค้างของไวนิลคลอไรด์อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งตับได้ และ สารไดออกซิน (Dioxin) ซึ่งพบในพลาสติกบางประเภท ไดออกซินเป็นสารก่อมะเร็งในปอด กระเพาะอาหาร ตับ ต่อมน้ำเหลือง และผิวหนัง มีผลต่อระบบการสืบพันธุ์ ในเพศชายทำให้มีตัวอสุจิน้อยลง ส่วนเพศหญิงรังไข่และมดลูกจะผิดปกติ ซึ่งทารกที่เกิดจากหญิงที่ได้รับสารชนิดนี้ในปริมาณมาก มีความเสี่ยงต่อความผิดปกติในวัยแรกเกิดด้วย

กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 พ.ศ.2528 และฉบับที่ 111 พ.ศ.2531 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุ การใช้ภาชนะบรรจุและการห้ามใช้วัตถุใดๆ เป็นภาชนะบรรจุอาหาร และเรื่องกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุพลาสติก และการใช้ภาชนะบรรจุพลาสติกและการห้ามใช้วัตถุใดเป็นภาชนะบรรจุอาหารตามลำดับ ซึ่งกล่องโฟม (Polystyrene) มีการกำหนดปริมาณตะกั่วและสารระเหยกลุ่มเบนซินและสไตรีนไว้ด้วยเพื่อควบคุมคุณภาพของพลาสติก แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ผลิตกล่องโฟมบางคนที่อาจไม่สามารถผลิตโฟมได้ตามมาตรฐานและยังมีการจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดในปัจจุบัน เพื่อความปลอดภัยของการบริโภค เราควรแยกชนิดของกล่องโฟมที่ใช้ให้ถูกต้องกับชนิดของอาหารเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเป็นพิษนั้น

ดังนั้น การใช้ภาชนะบรรจุอาหารพลาสติกหรือโฟม จึงควรเลือกให้เหมาะกับการใช้งานและประเภทของอาหาร เพราะการใช้ภาชนะบรรจุอาหารผิดประเภทอาจอันตราย เนื่องจากสารพิษเจือปนจากภาชนะได้ ซึ่งหากมีการสะสมเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ ภาชนะบรรจุอาหารที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีหลายประเภท ซึ่งมีหลักในการเลือกใช้เพื่อลดอันตราย ดังนี้

ภาชนะพลาสติก การใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารควรเลือกชนิดของพลาสติกให้เหมาะกับชนิดของอาหาร เช่น ไม่ควรใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารที่เป็นกรด เช่น นํ้าส้มสายชู เพราะกรดจากนํ้าส้มสายชูอาจทําปฏิกิริยากับภาชนะพลาสติกได้ จึงควรใช้ภาชนะที่ทําจากวัตถุที่ทนความเป็นกรดและด่างได้ เช่น ภาชนะสเตนเลสจะปลอดภัยกว่า นอกจากนี้ไม่ควรใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารที่ร้อนจัดหรือมีความมันมากๆ เมื่อใช้ใส่อาหารร้อนๆ โดยเฉพาะนํ้าร้อนเดือด ความร้อนจะทําให้สีจากภาชนะละลายปนออกมา ทำให้ร่างกายได้รับโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว สารหนูและแคดเมียม เข้าสู่ร่างกายของเรา อาจจะเป็นสาเหตุของความผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกายและโรคมะเร็ง

ถุงร้อน เป็นภาชนะที่นิยมใช้มากที่สุดในการบรรจุอาหาร ถุงร้อนบางชนิดสามารถทนความร้อนได้ถึง 120 องศาเซลเซียส แต่อาหารทอดใหม่ ๆ อาจมีอุณหภูมิสูงกว่า ทําให้มีโอกาสที่จะมีการปนเปื้อนลงสู่อาหารได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ควรพักอาหารทอดให้คลายความร้อน ก่อนบรรจุใส่ถุง

ฟิล์มหรือถุงพลาสติกห่อหุ้มอาหาร การใช้ฟิล์มยืดปิดภาชนะระหว่างการอุ่นอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ สามารถเก็บความชื้น ช่วยให้อาหารร้อนเร็วขึ้นได้ แต่ไม่ควรใช้เพื่อทําให้อาหารสุกและควรระมัดระวังการใช้ฟิล์มยืด อย่าให้สัมผัสกับอาหารโดยตรง ควรห่างกันอย่างน้อยประมาณ 1 นิ้ว เพราะถ้าฟิล์มยืดสัมผัสกับอาหาร ฟิล์มยืดจะได้รับความร้อนสูงและอาจละลายติดอาหารที่จะรับประทานเข้าไปได้

ถุงหูหิ้วพลาสติก หรือถุงหูหิ้ว หรือที่เรียกจนติดปากว่า "ถุงก๊อบแก๊ป" ไม่เหมาะอย่างยิ่งสําหรับใส่อาหารโดยตรง เพราะถุงประเภทนี้ ส่วนใหญ่ผลิตจากเม็ดพลาสติกที่ได้จากการนํากลับมาใช้ใหม่ และคุณภาพไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ดังนั้นอาจเกิดอันตรายได้ถ้านํามาบรรจุอาหารที่ร้อนและมีไขมันสูง

สุดท้ายนี้ขอฝากเตือนใจในการเลือกใช้ภาชนะกล่องใส่อาหารพลาสติก / โฟม

"พลาสติกที่มีสีสันสดใส มีลักษณะขุ่น อาจเป็นการนำเอาพลาสติกเก่ามาหลอมทำใหม่ ไม่ควรนำมาใช้บรรจุอาหาร โดยเฉพาะกล่องโฟมที่ทำจากโพลีสไตรีน (Polystyrene ) ควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook