ร้อนแล้ว...เลือกครีมกันแดดแบบไหนดีนะ

ร้อนแล้ว...เลือกครีมกันแดดแบบไหนดีนะ

ร้อนแล้ว...เลือกครีมกันแดดแบบไหนดีนะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ครีมกันแดดกับสาวเมืองร้อนมากถึงมากที่สุดอย่างเราๆ ก็ต้องเป็นของคู่กันอย่างแยกไม่ออกใช่ไหมล่ะคะ แต่จะเลือกซันบล็อกชนิดไหนดีที่จะมาเก็บล็อคความชุ่มชื่นของผิวสวยไม่ให้สูญเสียไปในซัมเมอร์นี้ พร้อมปกป้องรังสียูวีทั้งหลายไม่ให้มากล้ำกลายผิวให้หมองคล้ำ ว่าแล้วก็ไปทำความรู้จักกับครีมกันแดด อาวุธลับของผิวสวยสำหรับพิชิตเจ้าแดดตัวร้ายของร้อนนี้กันดีกว่าค่ะ

ค่า "SPF" และ "PA" คือ?
SPF = Sun Protection Factor

เป็นค่าของการปกป้องแสงแดด โดยส่วนใหญ่จะคำนวณจากปริมาณการป้องกันรังสี UVB แสดงถึงความสามารถในการปกป้องผิวจากการถูกเผาไหม้จากแสงแดดได้นานเท่าไหร่ เช่น SPF15 หมายถึง ป้องกันผิวจากการไหม้ได้ 15 เท่า เช่น ถ้าสาวๆ ไม่ได้ทาครีมกันแดด แล้วออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง จะทำให้ผิวเกิดอาการแสบร้อนภายใน 20 นาที แต่ถ้าหากทาครีมกันแดด SPF15 แล้ว จะทำผิวที่ถูกแสงแดดจนทำลายผิวให้ไหม้นั้น ต้องใช้เวลาเป็นจำนวน 15 เท่าของ 20 นาที หรือประมาณ 300 นาที (5 ชั่วโมง) ผิวถึงจะถูกไหม้จากแสงแดดนั่นเองค่ะ

PA = Protection Grade of UVA
ครีมกันแดดมักประกอบไปด้วย UVA Filter รวมอยู่ด้วย เป็นค่าที่วัดการป้องกันรังสี UVA เรียกว่า PA ค่า PA นั้นจะมี 3 ระดับคือ PA+ สำหรับสาวที่ต้องการปกป้องแสงแดดจากกิจกรรมทั่วๆ ไป PA++ สำหรับสาวที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน และ PA+++ สำหรับสาวที่ต้องการการปกป้องจากแสงแดดจัดๆ

ครีมกันแดดเยอะไปหมด ตกลงมีชนิดไหนกันบ้าง?
• Chemical Sunscreen
เป็นครีมกันแดดที่มีคุณสมบัติดูดซับแสงแดดบางชนิดกันได้แต่ UVA หรือ UVB อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่บางชนิดก็สามารถกันได้ทั้ง UVA และ UVB ซึ่งหลังจากโดนแดดสักพัก สารเคมีเหล่านี้ก็เสื่อมสภาพ นั่นคือสาเหตุที่สาวๆ ต้องทาครีมกันแดดทุกๆ 2-3 ชั่วโมง สาวๆ บางคนที่เลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงๆ ซึ่งมีส่วนผสมของสารเคมีในปริมาณมากตามลำดับ อาจเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้เช่นกัน

• Physical Sunscreen
เป็นครีมกันแดดที่สามารถสะท้อนรังสี UVA และ UVB ออกไปจากผิวหนังได้ และมีการระคายเคืองต่อผิวหนังน้อยกว่าสารในกลุ่มแรก แต่ไม่สามารถให้ SPF ที่ค่าสูงๆ ได้ และเนื่องจากสารจะเคลือบบนผิวหนังชั้นบน เพื่อรอแสงกระทบ จึงมีการดูดซึมลงสู่ชั้นผิวน้อย และเนื้อครีมจะทำให้ผิวจะดูขาวจนเกินไป

• แบบผสม Chemical + Physical Sunscreen
เป็นครีมกันแดดที่ผสมระหว่าง Chemical และ Physical Sunscreen สามารถลดการระคายเคืองต่อผิวหนัง เนื้อครีมสามารถดูดซึมลงสู่ชั้นผิวได้ดีขึ้น ไม่เกาะหนาอยู่บนผิวมากเกินไป

SPF เท่าไหร่ดีนะ?
สำหรับสาวโซนเอเชียโดยเฉพาะประเทศไทยนั้น ควรใช้ครีมกันแดดที่ชนิดน้ำเพราะมีเนื้อบางเบา ทาง่ายไม่เหนียวเหนอะหนะ ทำให้สบายตัวด้วยค่ะ และควรมีส่วนผสมของแอนตี้ออกซิแดนซ์ที่สามารถปกป้องเซลล์ผิวได้อย่างล้ำลึก และช่วยปกป้องคอลลาเจนภายในผิวอีกด้วย ส่วนวิธีทาครีมกันแดดนั้น ควรทาก่อนออกกลางแจ้งประมาณ 15-20 นาที และควรทาให้ทั่วถึงจึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การป้องกันจะครบถ้วน ขึ้นอยู่กับปริมาณเนื้อครีมที่เพียงพอด้วยนะคะสาวๆ ถ้าทาในปริมาณที่น้อยเกินไป ค่า SPF ก็จะไม่ได้ผลตามค่า SPF นั้นๆ นะ ซึ่ง และควรทาซ้ำ เมื่อสภาพผิวเริ่มมีอาการแสบและแดง
• ผิวไหม้แดดง่าย โดยผิวเปลี่ยนเป็นสีแทนยาก ใช้ค่า SPF 20-30 (Ultra high)
• ผิวไหม้แดดง่าย โดยผิวอาจมีสีแทนนิดหน่อย ใช่ค่า SPF 12-20 (Very high)
• ผิวไหม้แดดปานกลาง และผิวค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแทนใช้ค่า SPF 8-12 (High)
• ผิวไหม้แดดได้น้อย และผิวเปลี่ยนเป็นสีแทนได้เสมอ ใช่ค่า SPF 4-8 (Moderate)
• ผิวไหม้แดดยากมาก และผิวเปลี่ยนเป็นสีแทนได้อย่างมาก ใช้ค่า SPF 2-4 (Minimal)


ตัวอย่างค่า SPF
• ค่า SPF เท่ากับ 2 จะดูดซับ UVB ได้ 50%
• ค่า SPF เท่ากับ 4 จะดูดซับ UVB ได้ 75%
• ค่า SPF เท่ากับ 8 จะดูดซับ UVB ได้ 87.5%
• ค่า SPF เท่ากับ 15 จะดูดซับ UVB ได้ 93.3%
• ค่า SPF เท่ากับ 20 จะดูดซับ UVB ได้ 95%
• ค่า SPF เท่ากับ 30 จะดูดซับ UVB ได้ 96.7%
• ค่า SPF เท่ากับ 45 จะดูดซับ UVB ได้ 97.8%
• ค่า SPF เท่ากับ 50 จะดูดซับ UVB ได้ 98%

จากตัวอย่างจะเห็นว่า ค่า SPF เท่ากับ 15 จะดูดซับ UVB ได้ถึง 93.3% แล้วซึ่งถือว่ามากพอสมควร เมื่อ SPF เพิ่มขึ้นจะเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้องรังสี UVB ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก และอีกทั้งครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงมักจะทำให้ผิวของสาวๆ ระคายเคือง แถมยังมีราคาสูงอีกด้วยนะคะ ร้อนนี้ก็หวังว่าสาวๆ คงจะเลือกสรรครีมกันแดดมาใช้ได้อย่างเหมาะสมกับผิวของตัวเองอย่างสบายอารมณ์กันนะคะ


เอื้อเฟื้อข้อมูล นพ.ประวิตร พิศาลบุตร

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook