ความทรงจำสุดท้าย...เซ็นทรัลเวิลด์ 2553

ความทรงจำสุดท้าย...เซ็นทรัลเวิลด์ 2553

ความทรงจำสุดท้าย...เซ็นทรัลเวิลด์ 2553
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ชะตากรรมของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเซ็นทรัลเวิลด์ นับตั้งแต่ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เข้ายึดพื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์และปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณนั้นมาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ต้องตกอยู่ภายใต้ความสิ้นหวังเมื่อศูนย์การค้าถูกปิดตัวลงชั่วคราวทำให้สูญรายได้หลายพันล้านบาทนั้น ก็ต้องมาถึงบทสรุปที่แปรเปลี่ยนเป็นเหตุวินาศกรรม เมื่ออาคารหลักส่วนที่เป็นตัวห้างสรรพสินค้าของเซ็นทรัลเวิลด์ถูกเผาทำลายโดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เป็นอันสิ้นสุดศูนย์การค้าหัวใจหลักของคนกรุง หลายชีวิตต้องกลายเป็นคนตกงาน ขาดรายได้ หลายร้านค้าหลายกิจการในเซ็นทรัลเวิลด์ต้องจำยอมรับสภาพเลิกกิจการไปโดยปริยาย ในขณะที่ความเสียหายเบื้องต้นก็ยังประเมินค่าไม่ได้ และขณะนี้เปลวไฟในอาคารก็ยังควบคุมได้ไม่แล้วเสร็จ

เปลวไฟแรกที่ถูกจุดขึ้นบริเวณชั้นล่างของอาคารฝั่งห้างสรรพสินค้าเซ็น ลุกลามเบื้องต้นไปถึงชั้นสี่ ควันไฟขนาดใหญ่ปกคลุมทั่วบริเวณสี่แยกราชประสงค์ท่ามกลางความตื่นตระหนกของคนกรุงเทพ กระทั่งเวลาประมาณ 18.00 น. มีรายงานข่าวว่า ผู้ก่อเหตุจลาจลได้ลอบเข้าไปวางเพลิงอีกครั้งจนไฟได้ทำลายอาคารไปจนถึงชั้นเจ็ดของฝั่งเซ็น เวลาประมาณ 20.00 น. ไฟได้ทำลายโครงสร้างอาคารไปประมาณสามส่วน ทั้งยังได้รับการแจ้งเตือนว่าตัวอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมจะถล่มลงมาได้ทุกเมื่อหากโครงสร้างอาคารที่เป็นเหล็ก ไม่สามารถรองรับโครงสร้างต่อไปได้

แม้จะมีการเปิดเผยว่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ได้มีการทำประกันภัยก่อการร้ายกรมธรรม์มูลค่า 100ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3200 ล้านบาท) แต่ภาพของความสูญเสียหลังเหตุจลาจลจากผู้ก่อวินาศกรรม จนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายในเบื้องต้นได้ และคาดว่าอาจสูญเสียมากกว่าวงเงินกรมธรรม์ที่ได้ทำไว้

 

พลิกปูม ไทยไดมารู สู่ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ต้นตำรับแหล่งช็อปปิ้งราชประสงค์

ก่อนจะปรับปรุงโฉมใหม่ในชื่อของ เซ็นทรัลเวิลด์ เดิมทีบริเวณนั้นคือศูนย์การค้า เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เป็นโครงการศูนย์การค้า โรงแรม และอาคารสำนักงาน ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ ตัดกับถนนพระราม 1 ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างให้เป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในเวลานั้น

พื้นที่ของศูนย์การค้าเป็นที่ตั้งเดิมของวังเพ็ชรบูรณ์ วังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ สิ้นพระชนม์ นักธุรกิจญี่ปุ่นได้ขอซื้อที่ดินบริเวณวังเพื่อก่อสร้าง ห้างไทยไดมารู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศูนย์การค้าราชประสงค์ จากนั้น บริษัท วังเพชรบูรณ์ โดยนายอุเทน เตชะไพบูลย์ ได้เช่าที่ดินนี้จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อก่อสร้างห้างสรรพสินค้า เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 และเปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2532 ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าเซ็น (ZEN) และ อิเซตัน (Isetan) ขนาบอยู่สองข้างของส่วนกลางที่เป็นศูนย์การค้า เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์

ต่อมาเมื่อบริษัทวังเพชรบูรณ์ประสบปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงแรมและอาคารสำนักงานให้แล้วเสร็จ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงเปิดโอกาสให้บริษัทอื่นเข้ามาประมูล เป็นผู้บริหารศูนย์การค้า ซึ่งบริษัทที่เสนอตัวเข้ามาคือ กลุ่มเซ็นทรัล และ เดอะมอลล์ กระทั่งในที่สุด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (CPN) ก็ชนะประมูลในโครงการดังกล่าว

เปลี่ยนมือสู่เซ็นทรัล ตั้งเป้าเบอร์หนึ่งไลฟ์สไตล์ช็อปปิ้งคอมเพลกซ์แห่งแรกในไทย

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (CPN) เข้ามารับช่วงต่อทั้งหมดตั้งแต่การปรับปรุงและต่อเติมอาคารสำนักงานที่ทางเจ้าของพื้นที่เดิมได้สร้างไว้แต่ยังไม่แล้วเสร็จ จากนั้นจึงเริ่มปรับปรุงในส่วนของศูนย์การค้าโดยเปลี่ยนชื่อเป็น เซ็นทรัล เวิลด์พลาซ่า (Central World Plaza) และสร้างเซ็นทรัลเวิลด์สกายวอล์ก (Central World Skywalk) ทางเชื่อมลอยฟ้าระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีชิดลม และสถานีสยาม โดยความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ มีการนำศิลปะ และประติมากรรมมาเป็นองค์ประกอบในการตกแต่ง เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ที่เดินผ่านไปมาสนใจและมีปฏิสัมพันธ์กับตัวประติมากรรม นับเป็นบทบาทใหม่ของงานศิลปะที่สร้างความสุขสนุกสนานให้กับผู้คนทั่วไปในช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ นอกเหนือจากจรรโลงใจหรือเป็นเพียงสัญลักษณ์ของสถานที่อย่างที่เคยเป็นมา

ศูนย์การค้าเป็นเซ็นทรัลเวิลด์ เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่อลังการในฐานะหัวใจแห่งการจับจ่ายแห่งใหม่ใจกลางกรุง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เซ็นทรัลเวิลด์แบ่งโซนช้อปปิ้งออกเป็น 6 โซน แต่ละโซนได้รับการออกแบบให้มีรูปทรงบรรยากาศ และจุดดึงดูดสายตาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ช่วยสร้างบรรยากาศในการช้อปปิ้งที่หลากหลาย และช่วยให้ลูกค้าสามารถแยกความแตกต่างของโซนที่ตัวเองเดินอยู่ได้ นอกจากนี้แต่ละโซนยังได้ถูกออกแบบให้เชื่อมต่อถึงกันในลักษณะเปิด ช่วยให้ผู้ที่เดินอยู่ในโซนหนึ่งสามารถเห็นอีกโซนหนึ่ง เป็นการสร้างความต่อเนื่องในการเดินช้อปปิ้ง

ที่จดจำและขึ้นชื่อที่สุด คือบริเวณลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ได้เป็นหนึ่งในพื้นที่ฉลองปีใหม่ลำดับต้นๆ ที่เชิดหน้าชูตาเมืองไทย มีการจุดพลุสวยงาม รองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวนับหมื่นร่วมนับถอยหลังสู่ศักราชใหม่ ชมแสงสี การแสดง ที่สร้างความบันเทิงเริงใจด้วยความตระการตา

ด้วยความใหญ่ของเซ็นทรัลเวิลด์ที่มุ่งดึงดูดลูกค้ากว่า 150,000 คนต่อวัน จึงได้ออกแบบให้มีประตูเข้าออกช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ถึง 18 จุด เพิ่มความสะดวกในการเดินเข้าออกนอกจากนี้ยังจัดที่จอดรถถึง 7,000 คัน และถนน 6 เลน (CentralWorld Avenue) รอบช้อปปิ้ง คอมเพล็กซ์ เพื่อพักและระบายรถยนต์ที่เข้าออกช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ได้ทางถนนเส้นหลัก 2 สาย คือถนนพระราม 1 และถนนราชดำริ

1. ช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ พื้นที่รวม 550,000 ตรม. ประกอบด้วย :

+ ห้างสรรพสินค้าที่มีสาขาเดียวในไทย 2 ห้าง (เซน และ อิเซตัน)
+ ร้านค้ากว่า 500 ร้าน ประกอบด้วยร้านแฟชั่นแบรนด์เนมที่เป็น แฟลกชิพสโตร์ 35 ร้าน ร้านแฟชั่นแบรนด์เนมที่เปิดใหม่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย 36 ร้าน
+ ร้านแฟลกชิพสโตร์ของร้านค้าปลีกเฉพาะประเภท 6 ร้าน
+ ร้านอาหารกว่า 50 ร้าน โรงภาพยนตร์ 21 โรง และศูนย์โบว์ลิ่ง
+ โซนกิจกรรมและศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็ก
+ ลานกิจกรรมกลางแจ้ง

- โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ (Centara Grand and Bangkok Convention Center at CentralWorld) โรงแรมระดับ 5 ดาว พื้นที่ 90,000 ตรม. จำนวน 55 ชั้น - สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2551 จำนวนห้อง 500

- ห้องบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้า ประกอบด้วย คอนเวนชัน ฮอลล์ พื้นที่ 5,403 ตารางเมตร ความจุสูงสุด 8,000 ที่นั่ง, เวิลด์บอลรูม พื้นที่ 970 ตารางเมตร ความจุสูงสุด 1,200 ที่นั่ง และห้องโลตัสสวีต 1-15 พื้นที่ตั้งแต่ 66-210 ตารางเมตร

- ลานกิจกรรมเซ็นทรัลเวิลด์สแควร์ (CentralWorld Square) แบ่งออกเป็น 4 โซน

* โซน A (ฝั่ง ZEN) เป็นที่ตั้งของลานน้ำพุ
* โซน B (ตรงข้ามโรงแรมอโนมา) ติดตั้งจุดกระจายละอองน้ำ
* โซน C ติดตั้งน้ำพุกระจายรอบโซน จำนวน 30 จุด
* โซน D เป็นที่ตั้งของ Take a Look Screen จอแอลอีดีกลางแจ้งขนาด ใหญ่ที่สุดในเอเชีย รวมทั้งประติมากรรมรูปเคารพพระพิฆเนศวรและพระตรีมูรติ ซึ่งองค์หลังย้ายมาจากหน้า ZEN อีกด้วย

# เซ็นทรัลเวิลด์ การ์เด้น พื้นที่โล่งแจ้ง มีต้นไม้ปกคลุม บริเวณหน้าอาคารสำนักงาน ติดกับถนนพระรามที่ 1
# เซ็นทรัลเวิลด์ อเวนิว (CentralWorld Avenue) ถนนที่ตัดผ่านระหว่างเซ็นทรัลเวิลด์กับวัดปทุมวนาราม เป็นทางเข้าสู่ลานจอดรถ อาคารจอดรถและโรงแรม นอกจากนี้ยังมีจุดเชื่อมต่อเซ็นทรัลลิงก์ เชื่อมต่อไปยังถนนพญาไท สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ อาคารสยามทาวเวอร์ สยามพารากอน และโรงแรมสยามเคมเพนสกิ กรุงเทพ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณแยกปทุมวันต่อเนื่องมายังแยกเฉลิมเผ่า
# อาคารจอดรถและลานจอดรถชั้นใต้ดิน รองรับรถยนต์สูงสุด 7,000 คัน เป็นอาคารที่มีพื้นที่จอดรถมากที่สุดในประเทศไทย

- ลานจอดรถในร่มที่ มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พื้นที่ 287,000 ตรม. รองรับรถยนตร์ได้มากถึง 7,000 คัน

แม้จะไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดจะตั้งตระหง่านค้ำฟ้าได้ตลอดกาล แต่ความสูญเสียจากน้ำมือคนกลุ่มหนึ่งที่ขาดสติ....และน่าเศร้าที่สุดเมื่อเป็นน้ำมือของคนไทยด้วยกันเองนั้น....ความสูญเสียของอาคาร-ร้านค้า หากตีเป็นราคาอาจสูงลิบ....แค่มูลค่าความทรงจำที่ถูกทำลายต่างหากที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ความภาคภูมิใจในฐานะศูนย์การค้าอันดับหนึ่งใจกลางเมืองหลวงของไทย คงเป็นบาดแผลที่ไม่มีอะไรจะเยียวยาความรู้สึกของคนไทยที่จะกลายเป็นตำนานความสูญเสียที่เจ็บปวดที่สุด

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Getty Images และ Wikipedia

ข้อมูลจาก Central World และ Wikipedia

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ ความทรงจำสุดท้าย...เซ็นทรัลเวิลด์ 2553

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook