สุนัขสามารถป่วยเป็นโรคหัวใจได้ด้วยหรือ?

สุนัขสามารถป่วยเป็นโรคหัวใจได้ด้วยหรือ?

สุนัขสามารถป่วยเป็นโรคหัวใจได้ด้วยหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลาย ท่านเมื่อได้ยินคำถามนี้ก็คงคิดเช่นเดียวกัน ซึ่งคำตอบก็คือ สุนัขป่วยเป็นโรคหัวใจได้จริงๆ โรคหัวที่พบในสุนัขสามารถพบได้เช่นเดียวกับในคน คือสามารถพบได้ตั้งแต่เกิด หรือหลังเกิด แต่โดยทั่วไปมักพบว่าโรคหัวใจในสุนัขมีการพัฒนาขึ้นในช่วงกลางๆ ชีวิต โรคหัวใจของสุนัขที่เกิดขึ้นภายหลัง (acquired heart disease) เป็นลักษณะที่พบได้บ่อยที่สุด สุนัขที่พบว่าเป็นโรคหัวใจมักเป็นสุนัขที่มีอายุมาก

จากผลวิจัยล่าสุดเปิดเผยให้เห็นว่าเจ้าของสุนัขกว่า 50% ไม่เคยตระหนักว่าสุนัขของตนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ ทั้งที่มีสุนัขอายุ 7 ปีขึ้นไปมากถึงหนึ่งในสี่ที่เป็นโรคหัวใจ ดังนั้นเจ้าของสุนัขควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การสังเกตอาการของโรค และการดูแลสุนัขที่เป็นโรค เพื่อให้สุนัขมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไป

"หัวใจ" ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในร่างกายของสัตว์เลี้ยง เนื่องจากหัวใจมีหน้าที่ในการสูบฉีดเลือด เพื่อนำอ็อกซิเจน และสารอาหารต่างๆ ผ่านทางหลอดเลือดไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ความผิดปกติที่เกิดกับหัวใจ ส่วนใหญ่มักจะทำให้เกิดการบีบตัวของหัวใจลดลง ซึ่งสามารถทำให้เกิดการสะสมของของเหลวในช่องอก และช่องท้อง

โรคหัวใจแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่

1. โรคลิ้นหัวใจเรื้อรัง โรคลิ้นหัวใจรั่วจะทำให้ประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจ เพื่อนำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายลดลง ซึ่งเป็นความผิดปกติของหัวใจที่พบได้บ่อยในสุนัข

2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ อาการผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการหนาตัว หรือผนังห้องหัวใจบาง และอ่อนแอ มีผลทำให้ประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจลดลง ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยในแมว

โรคหัวใจทั้งสองชนิดจะค่อยพัฒนาขึ้น โดยใช้ระยะเวลา แต่ผลในที่สุดก่อให้เกิดภาวะที่มีความรุนแรงต่อการทำงานของหัวใจที่เรียกว่า หัวใจล้มเหลว (heart failure)

อะไรคือสาเหตุของโรคหัวใจ

โรคหัวใจมักเกิดได้จากหลายสาเหตุ ปัญหาจากการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมก็เป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจ ได้แก่

- สภาพร่างกาย - สุนัข และแมวที่มีน้ำหนักเกินจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจสูง

- อายุ - ความถี่ของโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยงมักเพิ่มขึ้นเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุมากขึ้น

- สายพันธุ์ - ในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น พุดเดิ้ล มินิเอเจอร์ชเนาเซอร์ ชิวาวา ฟอกซ์เทอร์เรียร์ ค็อกเกอร์สเปเนียล บอสตันเทอร์เรียร์ และคาวาเลียร์ คิง ชาร์ลส์ สเปเนียล มักเป็นโรคของลิ้นหัวใจ แต่ในกรณีโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ มักเกิดในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น เกรทเดน โดเบอร์แมนฟินเชอร์ อัฟกันฮาวนด์ เซนต์เบอร์นาร์ด สกอตทิซเดียร์ฮาวนด์ ไอริชวูล์ฟฮาวนด์ บ็อกเซอร์ นิวฟาวด์แลนด์ และดัลเมเชียน นอกจากนี้ยังพบในสุนัขพันธุ์เล็กเช่น อิงลิช และอเมริกันค็อกเกอร์สเปเนียล อิงลิชบูลด็อก

จะทราบได้อย่างไรว่าสุนัขเป็นโรคหัวใจ

อาการของโรคหัวใจในสุนัขค่อนข้างผันแปร หรือไม่แน่นอน อาการของโรคหัวใจนั้นสามารถบ่งบอกได้ยาก เพราะมักคล้ายกับความผิดปกติของโรคอื่นๆ ซึ่งอาจจะพบได้ตั้งแต่ประเภทที่ไม่สามารถสังเกตอาการได้จนถึงสามารถสังเกตพบ อาการได้ แต่อาการจะมีความเด่นชัด หรือมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อการพัฒนาของโรคหัวใจมีมากขึ้น ถ้าหากคุณพบอาการเหล่านี้ในสุนัขของคุณนั่นอาจจะแสดงว่าสุนัขของคุณมีความ ผิดปกติของหัวใจ

- อ่อนเพลียง่าย หรือขาดพลังงาน (lack of energy)
- หายใจลำบาก
- ไม่กินอาหาร และน้ำหนักตัวลดลง
- มีการไอบ่อยๆ
- อ่อนแอ เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายได้น้อยลง
- เป็นลม หมดสติ (fainting)
- ท้องบวมขยายใหญ่ (abdominal swelling)

เมื่อพบอาการดังกล่าวผู้ที่จะให้คำตอบที่ดีที่สุดว่าสุนัขเป็นโรคหัวใจหรือ ไม่ คือ สัตวแพทย์ประจำตัวสุนัขของท่าน เมือนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์ สัตวแพทย์อาจจะถามเจ้าของถึงอาการ หรือข้อมูลที่จำเพาะเกี่ยวกับสุนัขของท่าน (การซักประวัติสัตว์ป่วย) ก่อนที่จะทำการตรวจร่างกายสุนัข ถ้าสัตวแพทย์สงสัยว่ามีปัญหาทางสุขภาพ หรือโรคหัวใจ

อาจจะต้องมีการตรวจพิเศษเพื่อการวินิจฉัยโรคที่จำเพาะมากขึ้น เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ๊กเรย์ ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) หรือตรวจวิธีการอื่นๆที่จำเป็น การนำสุนัขของท่านไปตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจร่างกาย เป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้ตรวจพบปัญหาทางสุขภาพ หรือโรคหัวใจในระยะเริ่มต้นได้

โรคหัวใจของสุนัขสามารถรักษาได้หรือไม่

โรคหัวใจของสุนัขสามารถรักษาได้ แม้ว่าไม่มีการรักษาแบบใดๆ ที่สามารถรักษาโรคหัวใจของสุนัขได้ทุกชนิด การรักษาด้วยวิธีการต่างๆ หรือสมัยใหม่สามารถทำได้ ความสำเร็จของการรักษาโรคหัวใจสุนัขขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ประการ

โดยสัตว์เลี้ยงที่ป่วยด้วยโรคหัวใจสามารถควบคุมอาการของโรคได้ด้วยการให้ อาหารที่ถูกต้อง การออกกำลังกาย และการใช้ยา ด้วยการเลือกใช้อาหารที่ถูกต้องร่วมกับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ แต่การตรวจพบ ปัญหาโรคหัวใจในระยะแรกๆ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะจะเป็นการช่วยรักษาชีวิตสุนัขของท่านให้ยืนยาวต่อไปและมีความเป็นอยู่ ที่ดีขึ้น

 


ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก สพ.ญ.อรญา ประพันธ์พจน์ คลินิคเฉพาะทางโรหัวใจ
ขอบคุณภาพประกอบจาก Photos.com


กลับหน้าแรกผู้หญิง ดูอะไรหญิงๆ มากกว่านี้..

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook